home » ดูแลอย่างไร! พ่อแม่ไม่ซึมเศร้า »

ดูแลอย่างไร! พ่อแม่ไม่ซึมเศร้า

ซึมเศร้ารู้จักซึมเศร้า
ซึมเศร้าโดยทั่วไปจะหมายถึง อารมณ์เศร้าที่เกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย เป็นการตอบสนองต่อความผิดหวัง สูญเสีย หรือถวิลหาสิ่งที่ขาดหายไป ในภาวะปกติ อารมณ์เศร้าจะดีขึ้นเองและหายไปภายใน 2 –6 เดือน ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัว การช่วยเหลือของสังคมรอบด้าน แต่ในบางคนอารมณ์เศร้าคงอยู่ต่อเนื่องและยาวนานร่วมกับมีผลกระทบต่อความ สามารถในการทำงาน การดูแลตนเอง ทำให้การดำรงชีวิตและพฤติกรรมเปลี่ยนไป ซึ่งเป็นการเจ็บป่วยทางจิตใจที่เรียกว่า โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าจะมีอาการเด่นของอารมณ์ คือ เบื่อหน่าย ท้อแท้ เศร้าอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ บางรายจะมีลักษณะขาดความสนใจในกิจกรรมหรือสิ่งรอบตัว ไม่รู้สึกมีความสุขในชีวิตร่วมกับความผิดปกติอื่น ๆ ทั้งนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค เช่น นอนไม่หลับ หรือนอนมาก เพลียไม่มีแรงกระสับกระส่าย หงุดหงิด ขาดสมาธิ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายรับประทานมากขึ้น น้ำหนักเพิ่ม บางรายมีความรู้สึกผิด รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า บางครั้งมีความคิดอยากตาย หรือคิดเรื่องตายบ่อย ๆ บางรายพยายามทำร้ายตนเองก็มี
ในผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปจะมีอาการที่กล่าวข้างต้นต่อเนื่องติดต่อกัน ถ้าไม่รักษา อาการจะมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขั้นมีความคิดอยากตายและพยายามฆ่าตัวตาย บางรายไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ยอมมีกิจกรรม ไม่สนใจตนเอง ปล่อยตนเองจนเสียชีวิตได้ ในรายที่เป็นไม่มาก ก็จะมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย ทะเลาะกับลูกหลาน น้อยใจง่าย รู้สึกว่าตนเองไม่สบาย เจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา เข้าออกโรงพยาบาลบ่อย ๆ ไปหาแพทย์ทีไรก็ตรวจไม่พบความผิดปกติ จนคนข้างเคียงและครอบครัวเอือมระอา อาจเกิดความเครียดทะเลาะเบาะแว้งกันในครอบครัวได้บ่อย ๆ


โรคซึมเศร้าเกิดได้อย่างไร
โรคซึมเศร้าเกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ แต่ในผู้สูงอายุ ปัจจัยทางร่างกายจะมีผลมากกว่าปัจจัยทางจิตใจและสังคมenjoying-senior-living.jpg
* ปัจจัยทางร่างกาย ที่พบบ่อยจะเกิดจากสารสื่อประสาทในสมองมีการทำงานผิดปกติโดยมี
จำนวนน้อยลง ร่วมกับเซลล์สมองที่เสื่อม ทำให้การทำงานของสารสื่อสมองผิดปกติมากขึ้น โรคทางกายที่มักเป็นสาเหตุ ได้แก่ โรคเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก โรคพาร์กินสัน โรคไทรอยด์ โรคมะเร็ง ฯลฯ
* ปัจจัยทางจิตใจและสังคม ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคซึมเศร้า คือบุคลิกภาพเดิมที่มี
ลักษณะขาดความภูมิใจในตนเอง มองตนเองในด้านลบบ่อย ๆ การไม่สามารถคบเพื่อนหรือสนิทกับใครได้นาน ๆ จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น สภาพทางสังคมที่ขาดการคบหาสมาคมกับคนรอบข้าง แยกตัว ความยากจน การสูญเสียของรักหรือคนรัก หรือภาวะสุขภาพทางกายที่ไม่ดี มีโรคมาก หรือมีความรุนแรงมากขึ้น จะทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ง่ายขึ้น

จะรักษาและป้องกันได้หรือไม่?
ดังที่กล่าวมาแล้วโรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคที่เกิดจากความอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง แต่เกิดจาก การทำงานผิดปกติของสารสื่อประสาท ถ้าไม่รักษา อาการอาจเป็นมากขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นการเฝ้าระวังและวินิจฉัยได้ตั้งแต่แรกของการป่วย จะทำให้ผลการรักษาดี
อาการแสดงของโรคซึมเศร้าที่พบ มักจะไม่ชัดเจนในด้านของอารมณ์เบื่อหน่ายท้อแท้ ส่วนมากจะมาด้วยอาการหงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ไม่สนใจกิจกรรม ขี้น้อยใจ ร้องไห้บ่อย หรือรู้สึกเจ็บป่วยทางกายไม่มีแรง ดังนั้นการสังเกต หรือเฝ้าระวังอาการของผู้สูงอายุในครอบครัว ถ้ามีความผิดปกติดังกล่าว ซึ่งแตกต่างไปจากเดิมของผู้สูงอายุควรนึกถึงโรคซึมเศร้าด้วย และควรไปพบแพทย์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เมื่อไปพบแพทย์ การรักษาหลัก โดยมากจะใช้ยาต้านเศร้า เพื่อรักษาและป้องกันอาการซึมเศร้า ยาต้านเศร้าอาจมีอาการข้างเคียง ปากแห้ง คอแห้ง ใจสั่น ง่วงนอน ยาบางตัวอาจทำให้นอนไม่หลับ ถ้ารับประทานยาต้านเศร้าและมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล โดยทั่วไปแพทย์จะให้รับประทานยาอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ในรายที่เคยป่วยมาก่อนอาจต้องรับประทานยาอย่างน้อย 2 ปี ร่วมกับการดูแลและช่วยเหลือทางจิตใจจากสังคม ครอบครัว และคนรอบข้าง
การป้องกัน ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า มักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในชีวิต ทำให้เกิดความเครียดร่วมกับบุคลิกภาพเดิมของผู้สูงอายุ ดังนั้นถ้าคนใกล้ชิด บุตรหลานเข้าใจว่า ผู้สูงอายุมีการเผชิญความเครียด การแก้ปัญหาถดถอยลง ทำให้เกิดความเศร้าได้ง่ายกว่าเมื่อครั้งในวัยหนุ่มสาวแล้ว การดูแลผู้สูงอายุด้านจิตใจ เช่น การเยี่ยมเยียน การเข้าหาอย่างสมํ่าเสมอ การให้เกียรติ ให้ความเคารพ การให้ท่านรู้สึกเป็นที่ปรึกษา มีส่วนร่วมในการรับรู้การเปลี่ยนแปลงในครอบครัวอย่างช้าๆ แต่ในเหตุการณ์ที่รุนแรงอาจเลี่ยง หรือบอกภายหลัง หรือไม่บอกเลย แล้วแต่ความจำเป็น ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่ลูกหลานสามารถทำได้ การรับฟังผู้สูงอายุก็จะมีความสำคัญ ที่สามารถช่วยให้เราเข้าใจท่าน และช่วยให้ท่านสามารถเผชิญกับความเครียดได้ดีขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุในครอบครัวของเราห่างไกลจากโรคซึมเศร้าได้
มาร่วมกันช่วยเหลือคนที่คุณรักให้มีความสุขก่อนจะสายเกินไปเถอะค่ะ

รศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 ตุลาคม 2550

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand