สถานบริบาลผู้สูงอายุคืน "อุ่นไอ"ไม่ให้พ่ายโรคร้าย

สถานบริบาลผู้สูงอายุคืน "อุ่นไอ"ไม่ให้พ่ายโรคร้าย

ช่วงวัยที่ร่วงโรย ได้เปิดโอกาสให้โรคร้ายต่างๆ ทั้งแบบขาประจำและขาจรเข้ามาเยี่ยมเยือน ไม่ขาดสาย ถึงอย่างนั้นใช่ว่าคนชราจะมัวแต่ตั้งรับรอโรคร้ายรุมเร้าเสียทุกคน มีจำนวนไม่น้อยได้พยายามเพิ่มความกระฉับกระเฉง ความแข็งแรงของร่างกายและเติมเต็มความ กระปรี้กระเปร่าที่เคยขาดหายไปในจิตใจให้คืนกลับมาด้วยการออกกำลังกายและกิจกรรมต่างๆ

ด้วยข้อจำกัดทางร่างกายที่ลดน้อยถอยแรงลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงโรคประจำตัวที่คนเราจะเป็นอย่างน้อย 1 โรค และโรคร้ายอื่นๆ ที่คอยจ้องจะเล่นงานได้ เปลี่ยนสถานภาพผู้สูงอายุจำนวนมากให้เป็น " ผู้พึ่งพิง" รอรับความช่วยเหลือจากบุคคลภายในครอบครัว พยาบาลพิเศษ และมีไม่น้อยต้องใช้บริการของสถานบริบาล

ภาวะเช่นนี้สร้างความยากลำบากทั้งกับผู้สูงอายุและผู้ดูแลไม่น้อย ซ้ำร้ายยังหนักหนากว่าเดิมมาก หากผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแลฟื้นฟูมากกว่าปกติ ขณะที่ปริมาณและมาตรฐานของสถานบริบาล ยังไม่เอื้ออำนวย

มาตรฐานสถานบริบาล

คาดว่าประชากรผู้สูงอายุไทยที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้จะทบทวีขึ้นมหาศาลเริ่มจากปี พ.ศ.2538 จำนวนผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงญาติในการดูแล 52,013 คน จ้างดูแล 19,264 คน อยู่สถานบริการที่ต้องการการดูแลระดับปานกลางและสูง 1,445 และ 4,335 คนตามลำดับ จะทะยานเป็น 79,888 คนที่ต้องให้ญาติดูแล 31,955 คนที่ต้องจ้างดูแล ส่วนไปอยู่สถานบริการที่ต้องการการดูแลระดับปานกลางและสูงจะเป็น 25,298 และ 75,894 คนตามลำดับในปี พ.ศ.2558

จากการศึกษาเรื่อง "ระบบสถานบริบาลผู้สูงอายุ" ของ ดร.ศิริพันธุ์ สาสัตย์ เครือข่ายวิจัยสุขภาพ โดยการ สนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า ปัจจุบันฝั่งรัฐยังไร้สถานบริบาลรูปแบบนี้ แต่จะแฝงอยู่ในการให้บริการของสถานสงเคราะห์คนชรา (residential home) ที่จะเป็นไปในลักษณะของการสงเคราะห์มากกว่าการให้บริการรักษาพยาบาล 

ขณะที่ฟากเอกชนแม้จะมีจำนวนสถานบริการกว่า 400 แห่ง แต่มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่จดทะเบียนเป็นสถานบริบาลสำหรับผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง

มาตรฐานการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุในแต่ละแห่งจึงแตกต่างกัน อันเนื่องมาจากไม่มีการกำหนดมาตรฐานการให้บริการของสถานบริบาล ด้วยยังคงยึดมาตรฐานของโรงพยาบาลเป็นหลัก เช่นเดียวกันกับคุณลักษณะและสมรรถนะของผู้ให้บริการก็ยังไม่ได้กำหนดมาตรฐาน ชัดเจน บุคลากรส่วนใหญ่ในทีมสุขภาพจึงขาดทักษะความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง 

นอกจากนั้น การที่สถานบริบาลและโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดรับดูแลผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะใช้วิธีการปรับ ปรุงอาคารธรรมดามาเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์การดูแลและสภาพแวดล้อมจึงไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็น ระดับของเตียง ความปลอดภัยของห้องน้ำ แสงสว่างไม่เพียงพอ หรือพื้นลื่นหกล้มง่าย ทำให้สถานบริบาลเอกชนส่วนใหญ่จะเลี่ยงไปใช้การจดทะเบียน เป็นสถานพยาบาลสำหรับผู้ป่วยค้างคืนประเภททั่วไปแทน

ดัชนีชี้วัดข้างต้น หากนำมาเปรียบเทียบมาตรฐาน ของสถานบริบาลไทยกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ จะพบว่าสถานบริบาลไทยยังต้องพัฒนามาตรฐานการดูแล และการรับรองมาตรฐานอีกมาก หากคาดหวังว่าผู้สูงอายุไทยจะมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับผู้สูงอายุในประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้น

ยิ่งกว่านั้น ปรัชญาแนวคิดของสถานบริบาลไทยยังรัดร้อยอยู่กับการพยายามแก้ปัญหามากกว่าส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัว กล่าวคือ เน้นช่วยเหลือญาติที่ไม่มีเวลา หรือไม่อาจแบกรับภาระการดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้และต้องการการดูแลในระดับที่สูงขึ้น ขณะที่สหรัฐอเมริกาจะชูแนวคิดที่มุ่ง ส่งเสริมความเป็นอิสระหรือการคงสมรรถนะของร่างกาย การให้ความรื่นรมย์จากกิจกรรมนันทนาการ และการสนับสนุนของครอบครัว 



ด้านญี่ปุ่นจะเน้นการส่งเสริมผู้สูงอายุให้มีความเป็นอิสระ ลดการพึ่งพา บนปรัชญาการให้บริการที่ผนวก รวมชุมชนเข้ามา เช่น การดูแลกลางวัน บริการอาบน้ำ เยี่ยมบ้าน กระทั่งส่งอาหารกลางวัน รวมถึงเปิดสายด่วน 24 ชั่วโมงให้คำปรึกษา และน่าทึ่งกว่านั้นคือ สัดส่วนแพทย์และพยาบาลต่อผู้ป่วยจะน้อยมากเพียง 1:100 และ 1:35 คนตามลำดับ 

ฉะนั้น หากประเทศไทยจะมีการรับรองมาตรฐานของสถานบริบาล (nursing home) นอกจากต้องคำนึงถึงมาตรฐานการให้บริการพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่กับการช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวัน การเคลื่อนไหว การดูแลด้านจิตสังคมและการดูแลส่วนบุคคล โดยได้รับการดูแลสนับสนุนทางการแพทย์อย่างกายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด ตลอดจนบริการห้องพักและอาหาร เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะเปราะบางทั้งร่างกาย จากโรคเรื้อรังหรือพิการ รวมถึงสุขภาพจิต (สมองเสื่อม) หรือไม่ก็พิการทั้งสองอย่าง ให้ได้รับ "การดูแลในระดับสูงสุด" แล้ว อาจจะต้องปรับปรัชญาแนวคิดในการตั้งสถานบริบาลใหม่ด้วย

คืนอุ่นไอให้ผู้สูงอายุ



อย่างไรก็ตาม ลำพังการเร่งผลักดันให้ผู้ให้บริการและสถานบริบาลมีมาตรฐานชัดเจน โดยไม่ขับเคลื่อนเชิงนโยบายควบคู่กับการผสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะชุมชนแล้ว อาจไม่มีศักยภาพมากพอจะพลิกผันคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่ยังจะพอมีเงินมีครอบครัวอยู่บ้างให้กลับมาดีขึ้นได้ อย่าว่าแต่ผู้สูงอายุ 29,736 คนที่ร้าวรานจากการถูกทอดทิ้ง จากครอบครัวแล้ว ยังจะถูกซ้ำเติมอีกต่อจากสังคมที่ไม่แยแสชะตากรรมพวกเขา

ความร้าวรานทางร่างกายไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการลดทอนพลังกายพลังใจของผู้สูงอายุได้มากเท่ากับการต้องพลัดพรากจากครอบครัวมาอยู่อย่างเดียวดายในสถานสงเคราะห์คนชรา หรือสถานบริบาล 

ทว่าหากสถานบริบาลบริการด้วย "หัวใจมนุษย์ " นอกเหนือจากมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แล้ว เชื่อมั่นว่าคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะใกล้เคียงกับการปรนนิบัติของครอบครัว และอาจดีกว่าด้านการฟื้นฟูสุขภาพ เพราะผู้ปฏิบัติมีความรู้ความชำนาญในการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรัง



ข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยสถานบริบาลของเครือข่ายวิจัยสุขภาพที่เสนอให้ภาครัฐแบ่งประเภทการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลให้ชัดเจนตามคุณลักษณะ เช่น โรงพยาบาล สถานบริบาล หรือบ้านพักคนชรา โดยเฉพาะการตั้งสถานบริบาลผู้สูงอายุแยกออกมาจากบ้านพักคนชรา เนื่องจากเป็นการดูแลที่ต้องใช้ทักษะทางพยาบาล และจัดให้มีการบริการที่แบ่งตามระดับความต้องการการดูแลของผู้สูงอายุ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้รับการสงเคราะห์เท่านั้น



ตลอดจนดึงพลังจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาช่วยด้านนี้ ด้วยการส่งเสริมให้เข้ามามีส่วนร่วม จัดให้มีบริการสถานบริบาลสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลในระดับสูง ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้สถานบริบาลเหล่านั้นเพิ่มการให้บริการดูแลกลางวัน บริการดูแลแบบชั่วคราว การฟื้นฟูสภาพ เพื่อคืนความอบอุ่นสู่ผู้สูงอายุ ครอบครัวและชุมชน เนื่องจากจะลดการย้ายเข้ามาอยู่ในสถานพยาบาลของผู้สูงอายุได้

ระดับตำบลนั้น แม้จะติดขัดเรื่องงบประมาณและบุคลากร แต่หากประยุกต์ใช้ศูนย์อเนกประสงค์เป็นบริการดูแลสุขภาพกลางวัน พร้อมกับดึงพลังอาสาสมัคร ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข อาสาสมัครผู้สูงอายุ และเครือข่ายชุมชน เข้าร่วมแล้ว จะสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยสูงอายุเรื้อรังระยะยาวในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนกระทั่งจำนวนผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ลดลงมาก 

ส่วนการให้บริการฟื้นฟูดูแลในสถานสงเคราะห์ ก็จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้มากขึ้น เนื่องจากสถานบริบาลแต่ละแห่งจะผ่านการรับรองมาตรฐานของสถานบริบาล และผู้ให้บริการโดยหน่วย-งานรับรองมาตรฐานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้สูงอายุแยกออกจากสถาบันอื่นๆ เช่น การรับรองโรง-พยาบาล สถานบริบาล และบ้านพักคนชรา



รวมถึงการมีมาตรฐานการดูแล (care standard) ที่ชัดเจนมากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการในสถานบริบาล ที่จะได้รับการฝึกอบรมทุกระดับก่อนเข้าปฏิบัติงานและเปิดโอกาสให้มีการฝึกอบรมในขณะปฏิบัติงาน เพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น และสภาพแวดล้อมในสถานบริบาลล้วนส่งเสริมการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดต่างๆ ย่อมจะนำพาความสุขและพลังใจมาเยี่ยมเยือนผู้สูงอายุ ที่เคยจะพ่ายแพ้แก่สังขารและโรคภัยได้ไม่น้อย



การเรียกคืนวันอบอุ่นของครอบครัวมาสู่อ้อม กอดของผู้สูงอายุอีกครั้ง ควบคู่กับครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่สามารถลบภาพลักษณ์การเป็นลูกผู้ทอดทิ้ง 'ผู้มีพระคุณ' ออกไปได้

 

ข้อมูลสื่อ

336-004

นิตยสารหมอชาวบ้าน 336

เมษายน 2007
ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

 

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand