แห่ผุดอสังหารับ"สูงอายุ" เกาะเทรนด์คนชราพุ่ง วัสดุปรับดีไซน์เอาใจ

 
เทรนด์ตลาดบ้านผู้สูงอายุมาแรง ทั้งภาครัฐ-ดีเวลอปเปอร์ เล็งผุดโครงการนำร่อง การเคหะฯประเดิมที่ดินริมแม่น้ำป่าสัก สระบุรี ขึ้นอาคารชุด-ทาวน์โฮมหลายร้อยยูนิต กทม. เตรียมลุย 2ทำเล ริมแม่น้ำนครชัยศรี-หนองจอก ขณะที่เอกชนอีกหลายกลุ่มพร้อมบุกตลาดใหม่ ค่ายผู้ผลิตวัสดุ เด้งรับ "คอตโต้" ส่งห้องน้ำ-สุขภัณฑ์แบบปลอดภัยสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ กลุ่มเฟอร์นิเจอร์พร้อมออกแบบสินค้าให้เข้าคอนเซ็ปต์

นอกจากแนวโน้มในการขยายตัวของตลาดผู้สูงอายุจะปรากฏให้เห็นในหลายประเทศของยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ทั้งในแง่การผลิตสินค้า-บริการเพื่อตอบสนองความต้องการในลักษณะเฉพาะของผู้สูงวัยอย่างต่อเนื่องแล้ว ขณะที่ประเทศไทยก็มีการคาดการณ์ว่า สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้แนวโน้มในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดผู้สูงอายุในประเทศไทยก็เริ่มปรากฏชัดเจนมากขึ้น หลังจากภาคเอกชนบางกลุ่มเริ่มลงทุนพัฒนาที่ดินในรูปแบบที่อยู่อาศัยเจาะตลาดผู้สูงอายุ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการเคหะแห่งชาติหรือกรุงเทพมหานครก็สนใจที่จะลงทุนพัฒนาโครงการเพื่อผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ประกอบการด้านวัสดุ ตกแต่ง ตลอดจนเฟอร์นิเจอร์ ก็ยอมรับว่า หันมาให้ความสนใจที่จะผลิตสินค้าเพื่อรองรับกลุ่มตลาดที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุด้วยเช่นเดียวกัน

กคช.เล็งผุดที่ดินริมน้ำป่าสัก 16 ไร่

นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า กคช.ได้ทำการศึกษาโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยในเชิงพาณิชย์ เพื่อรองรับประชากรที่เตรียมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ และครอบครัวที่มีผู้สูงอายุที่ต้องการหาที่อยู่ใหม่ โดยโครงการนำร่องตั้งอยู่ที่บ้านสวนปากเพรียว ถนนพหลโยธิน ก.ม.5 อ.เมือง จ.สระบุรี เนื้อที่ 16 ไร่เศษ อยู่ติดกับเคหะชุมชนสระบุรี ริมแม่น้ำป่าสัก 
รูปแบบการพัฒนาประกอบด้วยอาคารชุดพักอาศัย 5 ชั้น (เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์) 2 อาคาร พื้นที่ใช้สอย 32-50 ตร.ม. 116 ยูนิต, อาคารชุดพักอาศัย 5 ชั้น ประเภทเช่า-ซื้อ 4 อาคาร 32-50 ตร.ม.232 ยูนิต, ทาวน์โฮม 3 ชั้น 8 ยูนิต, ศูนย์สุขภาพ 2 ชั้น พร้อมสระว่ายน้ำ และอาคารสปา 2 อาคาร เน้นจับกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางเป็นหลัก การออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าหากประเมินตลาดพบว่ามีดีมานด์รองรับเพียงพอก็พร้อมจะพัฒนาโครงการได้ทันที 

"โครงการบ้านพักผู้สูงอายุที่สระบุรีจะเป็นโปรเจ็กต์นำร่อง เพราะถ้าประสบความสำเร็จก็สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ได้ แต่ตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ดีมานด์ซัพพลายในตลาด ต้องรอจังหวะที่จะเปิดตัวโครงการ" ผู้ว่าการ กคช.กล่าว

กทม.ดึงเอกชนร่วมลงทุน

นายไทยวัฒน์ ตรียาภิรมย์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพ มหานคร กล่าวว่า กทม.สนใจจะสร้างบ้านสำหรับผู้สูงอายุเช่นกัน โดยเตรียมวงเงิน 1-2 ล้านบาท จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาประเมินความเหมาะสมโครงการภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ตามแผนจะมี 2 ระยะ คือระยะแรก กทม.ร่วมกับกระทรวงการคลังศึกษาความเป็นไปได้การพัฒนาโครงการบ้านผู้สูงอายุ ในระยะถัดไป กทม.จะนำผลการศึกษาไปขยายผลการลงทุน ทั้งในรูปแบบเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนและ กทม.ดำเนินการเอง 100% โดย กทม.มีที่ดินที่สามารถนำมาพัฒนาคือ ที่ดินติดริมน้ำ อ.นครชัยศรี 100 ไร่ และที่ดินย่านหนองจอก 60 ไร่

"กทม.หารือกับคลังว่า โครงการนี้น่าจะ ขอสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อจูงใจเอกชนเข้าร่วมลงทุน" นายไทยวัฒน์กล่าว 

ก่อนหน้านี้นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็กล่าวถึงแนวโน้มที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดใหม่ที่ผู้ประกอบการอสังหาฯไม่ควรมองข้าม นั่นคือตลาดบ้านสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่และน่าสนใจ โดยในเร็ว ๆ นี้จะมีโครงการเพื่อผู้สูงอายุระดับไฮเอนด์เกิดขึ้นที่บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ของกลุ่มแกรนด์ คาแนล ที่จะเป็นตลาดที่ใหญ่สำหรับชาวเดนมาร์กและญี่ปุ่นด้วย

คอตโต้ขายโถสุขภัณฑ์-อ่างล้างหน้า

นายธนศักดิ์ สาคริกานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บมจ.สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตสุขภัณฑ์ "คอตโต้" กล่าวว่า บริษัทให้ความสนใจกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2549 โดยเริ่มพัฒนาสุขภัณฑ์เฉพาะรุ่นที่จับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ ใช้หลักการออกแบบ เพิ่มฟังก์ชั่น และปรับระดับความสูง เพื่อให้ใช้งานสะดวก 

บริษัทวางแผนว่าในช่วงปลายปี 2553 นี้จะเริ่มทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยนำสุขภัณฑ์รุ่นดังกล่าวบรรจุลงในแค็ตตาล็อก ขณะเดียวกันก็นำเสนอวิธีออกแบบห้องน้ำเพื่อผู้สูงอายุให้ลูกค้าด้วย เช่น ออกแบบให้ไม่มีธรณีประตูกั้น ใช้ประตูแบบบานเลื่อนเพื่อความสะดวกกรณีนั่งรถเข็น ใช้กระเบื้องที่มีพื้นผิวหยาบเพื่อกันลื่น ฯลฯ

ทั้งนี้สุขภัณฑ์เพื่อผู้สูงอายุรุ่นแรกที่ออกในปี 2549 ยังเป็นโถสุขภัณฑ์แบบตักน้ำราด ออกแบบให้มีช่องเปิดบริเวณด้านหน้าโถเพื่อให้ผู้ช่วยสามารถสอดมือเข้าไปชำระล้างให้กับผู้สูงอายุ กรณีที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โถนั่งจะมีความสูงวัดจาก พื้น 45 เซนติเมตร สูงกว่ารุ่นปกติ 7-8เซนติเมตร ช่วยลดการทิ้งน้ำหนักลงหัวเข่าขณะลุกขึ้นยืน 

ในปี 2552 ได้พัฒนาโถสุขภัณฑ์เป็นแบบฟลัชชำระล้าง โดยออกแบบก้านฟลัชให้มีความยาวจากปกติอีกเท่าตัว ผู้สูงอายุไม่ต้องเอี้ยวตัวมากดฟลัช เวอร์ชั่นล่าสุดปี 2553 ได้ปรับวัสดุฝารองนั่งจากพลาสติกเป็นโฟม EVA (โฟมชนิดพิเศษ) หุ้มด้วยซิลิโคนเพื่อลดแรงกดทับขณะนั่ง และพัฒนาสินค้าขายเป็นเซตคู่กับอ่างล้างหน้าที่ออกแบบให้มีส่วนเว้าด้านหน้าเพื่อเพิ่มความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุที่นั่งรถเข็น นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์เสริม ได้แก่ ราวจับในห้องน้ำ 

นางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาอินเด็กซ์ให้ความสนใจในกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุมีการพัฒนาเตียงนอนที่มีระดับความสูงต่ำกว่าปกติคือไม่เกิน 30 เซนติเมตร ที่นอนมีความหนาไม่เกิน 8 นิ้ว เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้สูงอายุ 

ชี้ 10 ปี ตลาดผู้สูงอายุโต 10 เท่า

นายแพทย์บุญชัย อิศราพิสิษฐ์ ประธานกรรมการ บริษัทในเครือเวลเนส ซิตี้ กรุ๊ป เจ้าของโครงการเวลเนส ซิตี้ ซึ่งเป็นรายแรก ๆ ในการพัฒนาที่ดินเจาะกลุ่ม เป้าหมายคนสูงอายุ โดยชูจุดขายบริการครบวงจร เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดบ้านผู้สูงอายุในไทยอีก 10 ปีข้างหน้า คาดว่าน่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 10% ของตลาดที่อยู่อาศัย จากปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 1% 

"ประเทศไทยตอนนี้มีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มเป็น 11% ของประชากรทั้งประเทศ ถือ ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ แต่การทำตลาดยังไม่กว้างเพราะลูกค้าที่จะเข้ามาอยู่อาศัยต้องเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงและมีการศึกษาดีเท่านั้น"

ทั้งนี้โครงการเวลเนสโฮม ซิตี้ ที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งบนเนื้อที่ 1,400 ไร่ ประกอบด้วยโรงแรม, โรงพยาบาล และบ้านพักอาศัย 2,000 ยูนิต มีพื้นที่ใช้สอย 70 ตร.ว.-1 ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 3 ล้านบาท/ยูนิต มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท มียอดขายแล้ว กว่า 300 ยูนิต ภายในโครงการจะให้บริการด้านการแพทย์ เช่น ห้องตรวจโรค ห้องผู้ป่วยฉุกเฉิน ห้องพยาบาล ห้องพักผู้ป่วย ห้องกายภาพ บำบัด ห้องฝึกอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ห้องออกกำลังกาย รวมทั้งการรักษาด้วยแพทย์ทางเลือก (alternative medicine)
 
ผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ร่างกายมีสภาพเสื่อมถอย โดยมีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกและข้อ การลดลงของความสูงและน้ำหนัก ตลอดการเปลี่ยนแปลงท่าทางในการยืนและเดิน สำหรับประเทศไทยในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า จำนวนผู้สูงอายุไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ในขณะที่มาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผู้สูงอายุเหล่านั้นยังมีน้อย โดยเฉพาะมาตรการการจัดการด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้กับผู้สูงอายุยังไม่แพร่หลาย มีเพียงมาตรการของรัฐจากแผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2545-2564) กำหนดให้จัดทำมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ ภายใน 5 ปี (สิ้นสุดปี พ.ศ.2550) และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 กำหนดให้รัฐออกมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ในบริการสาธารณะ และในยานพาหนะ รวมทั้งจัดทำที่พักอาศัยให้กับผู้สูงอายุที่ประสบปัญหา นอกจากนี้ ในส่วนของการศึกษาวิจัยเรื่องสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุก็ไม่ได้รับความสนใจและแทบจะไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้

ดังนั้น ผศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์และคณะ จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ โดยการสนับสนุนของเครือข่ายวิจัยสุขภาพ สนมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานวิจัยในสหสาขา ทั้งการออกแบบทางสถาปัตยกรรม การออกแบบทางสถาปัตยกรรมภายใน การออกแบบทางภูมิสถาปัตยกรรม การออกแบบผลิตภัณฑ์-อุปกรณ์ประกอบในที่พักอาศัย การสำรวจขนาดร่างกายของผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งการพยาบาลผู้สูงอายุ ผลจากการศึกษาวิจัยดังกล่าว ทำให้ได้รับข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับที่พักอาศัย และสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุ

การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ทำการสำรวจผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราของรัฐ คลินิกผู้สูงอายุในโรงพยาบาล และชมรมผู้สูงอายุภาคเอกชน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 404 ตัวอย่าง โดยสำรวจตั้งแต่การวัดขนาดร่างกาย และการทดลองใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ติดตั้งภายนอกและภายในอาคาร ตลอดจนสภาพทั่วไปของผู้สูงอายุ

จากการสำรวจสภาพทั่วไปพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก/ข้อ/กล้ามเนื้อ/เอ็น รองลงมือ คือ โรคความดันโลหิตสูง และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการมองเห็นมากที่สุดส่วนอุบัติเหตุที่พบในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมาบ่อยที่สุด คือการหกล้

การใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุพบว่า ส่วนใหญ่ใช้เวลานานที่สุดอยู่ในห้องนั่งเล่น รองลงมา คือ ห้องนอน ทางด้านสภาพความเป็นอยู่พบว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่กับคู่สมรส อีกทั้งพบข้อมูลด้วยว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีบุตร แต่ไม่ได้อยู่กับบุตร ทางด้านที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุพบว่า อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวมากที่สุด รองลงมาคือบ้านไม้ยกพื้น นอกจากนี้ยังพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ใช้สอย สภาพแวดล้อม และทางด้านความสะดวกสบาย อีกทั้งไม่เคยคิดที่จะย้ายออกไปจากที่อยู่ปัจจุบัน

จากการให้ผู้สูงอายุทดลองใช้อุปกรณ์ชิ้นต่างๆ ซึ่งแยกเป็นอุปกรณ์นอกอาคารและในอาคาร คณะวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัย และไม่ยุ่งยากที่จะใช้งาน มีตัวอย่าง ดังนี้

ราวจับทั่วไป ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกราวจับที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5 เซนติเมตร และมีระดับที่สูงจากพื้น 0.8 เมตร สำหรับวัสดุที่ใช้ทำราวจับส่วนใหญ่เลือกสแตนเลส 

ความสูงลูกตั้งบันได ส่วนใหญ่เลือกที่ความสูง 130 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่ระบุในร่างกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราในอาคารที่กำหนดให้ความสูงไม่เกิน 150 มิลลิเมตร เป็นข้อสังเกตว่ามาตรฐานที่กำหนด อาจใช้ไม่ได้กับผู้สูงอายุชาวไทยเนื่องจากความแตกต่างด้านสรีระ และความสามารถทางร่างกายของผู้สูงอายุและผู้พิการแตกต่างกัน

ราวจับในห้องน้ำบริเวณโถส้วม ผู้สูงอายุเลือกราวติดพื้น 2 ข้างมากที่สุด

สวิทซ์ไฟฟ้า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกสวิทซ์ที่มีลักษณะอย่างเดียวกับสวิทซ์ที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก แสดงว่าผู้สูงอายุเลือกใช้อุปกรณ์ที่คุ้นเคยอยู่แล้ว

ปลั๊กไฟฟ้า ที่เลือกมากที่สุดคือ ปลั๊กที่มีสวิทซ์หลายช่อง 

โถสุขภัณฑ์ จากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่เลือกโถสุขภัณฑ์แบบสูงและแบบต่ำ มีจำนวนใกล้เคียงกัน

การใช้สี สีของตัวอักษรที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มองเห็นชัดเจนมากที่สุดคือ ตัวอักษรสีน้ำเงินบนพื้นสีขาว ส่วนการเลือกสีขาว- ดำ พบว่าความชัดเจนในการมองเห็นคือ อักษรสีดำพื้นสีขาว 

ก๊อกน้ำ รูปแบบของก๊อกน้ำ ค่อนข้างจะกระจายการเลือกแบบ แต่แบบที่เลือกมากคือ แบบปัดไปด้านข้าง 

ทางลาด ส่วนใหญ่เลือกความชันระดับ 9 องศา 

ลูกบิดประตู ผู้สูงอายุเลือกแบบมีร่องมากที่สุด 

มือจับประตู แบบที่เลือกมากที่สุด คือแบบที่มีก้านจับและมือไม่ลื่นหลุดได้ง่าย 

กลอนประตู แบบที่ผู้สูงอายุเลือกมากที่สุด คือ แบบที่มีกลไกในการล็อกที่ค่อนข้างซับซ้อนมากกว่าแบบอื่น 

พื้นถนนในที่พัก ส่วนใหญ่เลือกคอนกรีตตัวหนอนมากที่สุด 

พื้นชานบ้านหรือระเบียง ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกทรายล้างมากที่สุด 

พื้นทางเดินเท้า กรวดล้างคือวัสดุที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เห็นว่าเหมาะสมกับทางเดินเท้ามากที่สุด 

ลานกิจกรรม เช่น ลานกิจกรรมที่ใช้ออกกำลังกาย ผู้สูงอายุเลือกพื้นทรายล้างมากที่สุด

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยในการเดิน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกทรายล้าง 

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกเดินสบาย พื้นผิวที่เหมาะสมที่สุดคือ ทรายล้าง 

พื้นผิวที่ให้ความรู้สึกสวยงาม ผู้สูงอายุเลือกพื้นผิวหินอ่อนมากที่สุด 

พื้นผิวที่เป็นบล็อกปูถนน ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกใช้คอนกรีตตัวหนอนมากที่สุด 

รั้ว ความสูงของรั้วที่เลือกมากที่สุดอยู่ที่ 1.20 เมตร 

เก้าอี้ ผู้สูงอายุเห็นว่าชุดเก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิงเหมาะสมในการใช้ที่สุด

ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบและใช้งานได้เลยอย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยได้เสนอแนะให้สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) จะต้องปรับปรุงข้อมูลสรีระร่างกายกลุ่มผู้สูงอายุไทยให้ทันสมัยเป็นระยะๆ สำหรับข้อมูลสภาพการอยู่อาศัยของกลุ่มตัวอย่าง สามารถนำไปเปรียบเทียบกับกลุ่มตัวอย่างอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกัน เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลทำให้ข้อมูลที่ได้มีความเหมือนหรือต่างกัน ส่วนระดับของข้อมูลการทดสอบอุปกรณ์ สามารถใช้เป็นแนวทางในการออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพ โดยนำข้อมูลการวัดสรีระร่างกายผู้สูงอายุมาเปรียบเทียบก่อนการใช้งาน และข้อมูลระยะมาตรฐานในการออกแบบเป็นระยะมาตรฐานแนะนำ เพื่อประกอบในการออกแบบ
 

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand