นวัตกรรม'ศิรราช' เบาหวาน-ไม่ต้อง'ตัดขา'

ถือเป็นข่าวสำคัญในวงการแพทย์ และเป็นข่าวดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน



โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่โดนโรคๆ นี้รุมเร้าเล่นงานอย่างหนักหลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แถลงความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมการแพทย์ ซึ่งสามารถผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน และได้รับการยอมรับในวงวิชาการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกของโลก



ทำให้บุคคลที่โดน 'เบาหวานกินเท้า' นั้นไม่ต้องตัดขาทุกรายไปเฉกเช่นในอดีต!



เบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข มีอัตราการป่วยเพิ่มทุกปี



ผู้ป่วยเบาหวานจะมีความเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคทางระบบประสาท โรคหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดบริเวณเท้า ซึ่งเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานหนัก หากขาดการดูแลมักเป็นสาเหตุให้ต้องตัดขาทำให้เกิดความพิการ หรือ บางรายลุกลามจนเสียชีวิตได้ 







'คณะศัลยแพทย์ ศิริราชพยาบาล จึงคิดค้นนวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานขึ้น นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกของโลกที่สามารถช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่มีแผลขาดเลือดรอดพ้นจากความพิการได้'







ศ.น.พ.ศุภกร โรจนนินทร์ หัวหน้าภาควิชาศัลยศาสตร์ กล่าวระหว่างร่วมงานแถลงข่าวเรื่อง 'ครั้งแรกของโลก นวัตกรรมศิริราช ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้าในกลุ่ม ผู้ป่วยเบาหวาน ป้องกันการถูกตัดขา' ที่โรงพยาบาลศิริราช พร้อมกับ ศ.คลินิก น.พ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ ศ.น.พ.ประมุข มุทิรางกูร หัวหน้าสาขาวิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด ภาควิชาศัลยศาสตร์ หนึ่งใน ผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าว





ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ผู้ป่วยโรคเบาหวานจำเป็นต้องกังวลในเรื่องโรคแทรกซ้อนมาก 





ทั้งเรื่องภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือภาวะช็อกจากน้ำตาลในเลือดสูง 





นอกจากนี้ ยังต้องระวังภาวะที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของ 'หลอดเลือดแข็ง'





โดยภาวะที่พบบ่อยๆ คือ...





โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตา โรคปลายประสาทอักเสบ โรคเบาหวานกับเท้า 





ซึ่งหากเกิดกับอวัยวะส่วนใดก็มักจะเป็นอันตรายได้ เช่น ตาบอด โรคหัวใจ หรือ ปลายมือเท้าชา 





หรือ ต้องถูกตัดขาทิ้ง!





จากสถิติพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอัตราการตายจากโรคหัวใจสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า 



มีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าคนปกติ 2-4 เท่า 



เป็นความดันโลหิตสูงร้อยละ 60-65 



เป็นสาเหตุของตาบอดในคนอายุ 20-40 ปี 



และเสี่ยงถูกตัดขาเนื่องจากติดเชื้อบริเวณ 'เท้า' ถือเป็นส่วนที่มักเกิดบาดแผลบ่อยๆ เนื่องมาจากผู้ป่วยเบาหวานมักมีความรู้สึกที่ปลายประสาทไม่ดี อันเกิดจากการเสื่อมของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ เลือดไปเลี้ยงบริเวณเท้าน้อยลง 



รวมทั้งมีการเสื่อมของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงยังเท้า ทำให้เกิดแผลบริเวณนี้ได้บ่อยๆ ซึ่งเมื่อเกิดแผลและเส้นเลือดบริเวณนี้ตีบก็จะทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงบริเวณเท้าได้ ทำให้เนื้อบริเวณดังกล่าวตาย และเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยต้องตัดเท้าทิ้ง ทำให้เกิดความทุพพลภาพขึ้น และคุณภาพชีวิต แย่ลง



ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดแผลใน ผู้ป่วยเบาหวาน เช่น ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานมาเป็น เวลานาน โดยเพศชายจะ เสี่ยงมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ป่วยที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลสูงทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานไม่ดี 





ผู้ป่วยเบาหวานจึงจำเป็นต้องดูแลเท้าอย่างสม่ำเสมอ



ศ.น.พ.ประมุขกล่าวว่า คณะศัลยแพทย์คิดค้นการวิจัยการรักษา วิธีรักษาขึ้น เพื่อช่วยกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานที่มีพยาธิสภาพของหลอดเลือดแดงบริเวณขาอยู่ในขั้นรุนแรง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นๆ ได้ 





โดยวิธีนี้เริ่มผ่าตัดรายแรกปี 2545 จนถึงปัจจุบันรวมการรักษาที่ร.พ. ศิริราชไปแล้ว 40 ราย 



ทั้งนี้ผู้ป่วยดังกล่าวไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นแล้วจึงต้องใช้วิธีนี้ โดยพบว่าร้อยละ 73 ผ่าตัดสำเร็จผลการรักษาดี ร้อยละ 23 ถูกตัดขา เนื่องจากมีการติดเชื้อก่อนผ่าตัด และไม่พบการติดเชื้อมาก่อน เมื่อผ่าตัดเสร็จจึงทราบว่ายังมีเชื้อหลงเหลือ และพบว่าอีกร้อยละ 4 เสียชีวิตจากภาวะปอดอักเสบ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการผ่าตัด



อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นสถิติเริ่มแรกของการผ่าตัด แต่ขณะนี้ไม่มีปัญหาใดๆ ซึ่งหลังการผ่าตัดทางคณะศัลยแพทย์มีการติดตามผลการรักษา โดยพบว่าร้อยละ 85 มีชีวิตดี ดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ และร้อยละ 76 ไม่ต้องสูญเสียขา สามารถมีชีวิตอยู่ได้อีก



ศ.น.พ.ประมุขอธิบายว่า สำหรับหลักการผ่าตัดวิธีนี้คือ การใช้ 'หลอดเลือดดำ' บริเวณข้อเท้าเป็นทางนำเลือดแดงจาก 'หลอดเลือดแดง' บริเวณต้นขา เข้าไปในระบบหลอดเลือดดำโดยตรง โดยแพทย์จะใช้หลอดเลือดแท้จากขาอีกข้างมาต่อเข้ากับหลอดเลือดดำ 



จากนั้นใช้ 'หลอดเลือดเทียม' เชื่อมต่อไปยังหลอดเลือดแดงบริเวณต้นขา 



การทำลักษณะนี้จะช่วยให้เลือดหมุนเวียนไปบริเวณเท้าที่มีแผล ทำให้แผลสมานตัวเองได้ 



วิธีนี้จะช่วยให้ปริมาณอาหาร และออกซิเจนมาหล่อเลี้ยงเท้าที่ขาดเลือดได้อย่างพอเพียง จน 'แผลเบาหวาน' ที่ขาดเลือดหายเป็นปกติ 



ผู้ป่วยสามารถเดินได้โดยใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 4 ชั่วโมง นอนพักฟื้นที่ร.พ. 4-6 สัปดาห์ ค่าใช้จ่ายอย่างต่ำประมาณ 50,000 บาท โดยทุกสิทธิในระบบสุขภาพไทย ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายได้ตามระบบที่กำหนด



'ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาวิธีนี้ จะต้องมีหลอดเลือดดำบริเวณข้อเท้าดี สภาพหัวใจต้องแข็งแรงมากพอ ไม่มีการติดเชื้อ หรือหากมีหนองบริเวณแผลต้องรักษาให้หายก่อน และเส้นเลือดดำต้องไม่อุดตัน จึงจะสามารถรักษาด้วยวิธีนี้' ศ.น.พ.ประมุขระบุ



อย่างไรก็ตาม แม้ศิริราชจะรักษาด้วยวิธีการดังกล่าวมาหลายปีแล้ว แต่ศ.น.พ.ประมุข เพิ่งนำเสนอครั้งแรกที่การประชุมวิชาการศัลยแพทย์ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2552 ปรากฏว่าหลังจากนั้นได้รับความสนใจให้มีการนำเสนอเรื่องนี้ทุกๆ ปี ทั้งปี 2553, 2554 ล่าสุดในปี 2555 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอีกด้วย 



ที่สำคัญผลงานชิ้นนี้ยังได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติชื่อ 'Vascular' ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา รัสเซีย ฝรั่งเศส ฯลฯ แต่ประเทศเหล่านี้ยังไม่มีการนำไปใช้ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานของประเทศดังกล่าวมีการรักษาทันจนไม่ต้องใช้วิธีนี้



'หลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องควบคุมโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ภาวะไขมันในเลือดสูง และรับประทานยาต้านเกล็ดเลือด ที่สำคัญห้ามสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีโอกาสการตีบซ้ำของหลอดเลือดแดงสูง ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานต้องสำรวจโรคหลอดเลือดแดงที่ขาไม่น้อยกว่าโรคหัวใจและสมอง ซึ่งจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดที่ร.พ. ศิริราชปีละ 200 คน พบว่าร้อยละ 60 เกิดจากเบาหวาน จึงอยากขอให้กระทรวงสาธารณสุขมีการสำรวจโรคหลอดเลือด โดยเฉพาะหลอดเลือดขาของผู้ป่วยเบาหวานด้วย เนื่องจากหากสามารถค้นพบกลุ่มผู้ป่วยนี้ได้เร็วจะลดโอกาสที่ผู้ป่วยจะสูญเสียขาน้อยลงด้วย โดยผู้ประสงค์จะรับการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถติดต่อได้ที่หน่วยตรวจโรคศัลยศาสตร์ ตึก ผู้ป่วยนอก ชั้น 3 ร.พ.ศิริราช หรือสอบถามได้ที่เว็บ www.siriraj online.net' ศ.น.พ.ประมุขกล่าว



สําหรับวิธีการดูแลรักษาเท้า เพื่อไม่ให้มีอาการหนักจนถึงขั้นถูกตัดนั้น ทางทีมแพทย์ศิริราชได้แนะนำเอาไว้ว่า



- ให้สังเกต 'สีผิว' โดยเท้าที่ผิดปกติจะมีสีออกดำ หากบริเวณดังกล่าวดำเข้มและผิวแห้งจะหมายถึงเนื้อเยื่อดังกล่าวตายไปแล้ว



สีผิวออกแดง หมายถึงการอักเสบ สิ่งที่พบร่วมอาจจะมีแผล หรือหนอง หรือมีไข้ หมายถึงมีการอักเสบ



- 'อุณหภูมิ' ปกติควรเท่ากัน แต่หากอุณหภูมิของผิวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอีกข้าง หมายถึงมีการอักเสบของผิวหนังดังกล่าว 



หากดูผิวหนังพบว่าสีแดง แสดงว่ามีการอักเสบของผิวหนัง 



แต่ถ้าเย็นกว่าปกติ ร่วมกับการคลำชีพจรได้เบาและมีผิวดำและมัน แสดงว่าเลือดไปเลี้ยงไม่พอ



- 'ตรวจขน' ปกติจะพบขนบริเวณหน้าแข้ง และบริเวณนิ้ว หัวแม่เท้า หากขนดังกล่าวหลุดร่วงหมายถึงว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องเลือดไปเลี้ยงบริเวณดังกล่าวไม่พอ



การตรวจเท้าต้องตรวจให้ทั่วทั้งหลังเท้า ฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกนิ้ว และเล็บเท้า เช่น เล็บขบ เชื้อราที่เล็บ เล็บงุ้มหรือไม่ซึ่งจะเป็นสาเหตุให้เล็บงอกแทงเนื้อ นอกจากนี้ ยังต้องรับการตรวจโดยแพทย์หากพบอาการชาที่เท้า



การเลือกรองเท้าที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องสำคัญ 



ข้อแนะนำ เช่น เลือกรองเท้าที่พอดีกับเท้า ไม่เลือกรองเท้าที่ทำจากพลาสติก ไม่ใส่ส้นสูง เพราะจะทำให้เกิดโรคข้อและเกิดแผลกดทับ ใส่ถุงเท้าก่อนใส่รองเท้าทุกครั้ง ต้องใส่รองเท้าที่หุ้มทั้งหมดของเท้า หลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าเปิดหัว และใส่รองเท้าทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลือกใช้รองเท้าที่ระบายอากาศได้ดี หากพบว่าเท้ามีลักษณะผิดปกติ ผิดรูป เช่น กระดูกปูด ควรทำรองเท้าแบบพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดการกดทับ



'เมื่อ 3 ปีก่อนดิฉันถูกแก้วกาแฟบาดบริเวณเท้าซ้าย แม้ไปรับการล้างแผลเป็นประจำ แต่แผลไม่หาย แพทย์บอกว่าอาจต้องตัดขา เพราะไม่มีเลือดมาเลี้ยงที่ขาแล้ว แต่ดิฉันยืนยันไม่ยอมตัดขา เพราะประกอบอาชีพค้าขาย ต้องทำมาหากิน จนมีโอกาสเข้ารับการรักษาที่ร.พ.ศิริราช แพทย์ได้ผ่าตัดด้วยวิธีนี้ จนปัจจุบันเดินได้ปกติ ไม่ต้องถูกตัดขา โดยหลังการผ่าตัดเพียง 1 ปีก็เดินได้แล้ว'



นางอรุณี เตมีพัฒนพงษา อายุ 77 ปี ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณเท้า กล่าวทิ้งท้าย


 เมธาวี มัชฌันติกะ วันที่ 05 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 22 ฉบับที่ 7859 ข่าวสดรายวัน

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand