มาฝึกคิดเลขง่าย ๆ แบบใหม่ ป้องกันสมองเสื่อมกันเถิด

มาฝึกคิดเลขง่าย ๆ แบบใหม่ ป้องกันสมองเสื่อมกันเถิด !!


ก่อนอื่น  เราควรมาทำความเข้าใจในเรื่องสมองเสื่อมกันก่อน




สมองเสื่อม คือ อะไร *



ผศ. นพ. รุ่งนิรันดร์ ประดิษฐสุวรรณ   สาขาอายุรศาสตร์ปัจฉิมวัย

ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ได้อธิบายว่า



สมองเสื่อม คือ กลุ่มอาการซึ่งเกิดจากการสูญเสียหน้าที่ของสมอง

หลายด้านพร้อม ๆ กัน อย่างช้า ๆ แต่ถาวร  ซึ่งโดยทั่วไป หน้าที่ของ

สมองที่เริ่มสูญเสียก่อน คือ  ความจำ  โดยเฉพาะความจำระยะสั้น

และการสูญเสียหน้าที่สมองดังกล่าว  ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถ

ในการประกอบอาชีพการงาน  การเข้าสังคม และความสามารถในการ

ทำกิจวัตรประจำวันในที่สุด




การเปลี่ยนแปลงของสมองในวัยสูงอายุ เป็นอย่างไร



จากการศึกษาพบว่า  เซลล์สมองของผู้สูงอายุมีจำนวนลดลง  ทำให้

สมองฝ่อเล็กลง สารสื่อนำประสาทต่าง ๆ ในสมองมีปริมาณลดลง

ความเร็วของการนำสัญญาณประสาทลดลง  ทำให้หน้าที่สมองซึ่ง

ต้องใช้ความเร็วช้าลง  ผู้สูงอายุตัดสินใจช้าลง  ปฏิกิริยาตอบสนอง

ต่าง ๆ ช้าลง  สมาธิไม่ค่อยดี



พบว่า ผู้สูงอายุมีความจำระยะสั้นด้อยลง  ในขณะที่ความจำเรื่องใน

อดีตยังดีอยู่  นอกจากนั้น  ผู้สูงอายุยังมีความสามารถในการแก้ปัญหา

ความสามารถเรื่องทิศทาง และการเรียกชื่อวัตถุสิ่งของที่ลดลง  เมื่อ

เทียบกับคนหนุ่มสาว




สมองเสื่อมเกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุอย่างไร



จากการศึกษาในประเทศทางตะวันตก พบว่า  ความชุกของภาวะ

สมองเสื่อม ในประชากรวัย  60  ปีขึ้นไป  พบประมาณร้อยละ 1

และเพิ่มขึ้นเป็น  2 เท่า  ทุกอายุที่เพิ่มขึ้น  5  ปี  จนกลายเป็นมากกว่า

ร้อยละ 30  ในประชากร อายุ 85 ปี ขึ้นไป









สมองเสื่อมเกิดจากอะไรได้บ้าง



โรค/ภาวะ ที่เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ ได้แก่



1.  สมองเสื่อมที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์สมอง  ซึ่งเป็น

สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุ   ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หาย

ขาดได้   โรคที่รู้จักกันดีที่สุดในกลุ่มนี้  คือ  โรคอัลไซเมอร์

(Alzheimer' s  disease)



2.  สมองเสื่อมที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง  พบบ่อยเป็นอันดับสอง

มีความสำคัญมากเพราะสามารถรักษาให้ดีขึ้นได้และป้องกันได้



3.  สมองเสื่อมที่เกิดจากโรคที่รักษาให้หายได้  ได้แก่  โรคเนื้องอกสมอง

อุบัติเหตุที่ศีรษะ ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง  โรคต่อมธัยรอยด์ทำหน้าที่

น้อยลง  โรคติดเชื้อในสมองบางอย่าง  เช่น  ซิฟิลิส  รวมทั้งบางโรค

ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายสมองเสื่อม  เช่น  โรคซึมเศร้า  การรับประทาน

ยากล่อมประสาทมากและนาน  ภาวะตามัวและหูตึงมาก  เป็นต้น




เมื่อไรจึงควรนึกถึงสมองเสื่อมที่เกิดจากโรคที่รักษาให้หายได้



ควรแนะนำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์  เมื่อผู้ป่วยมีอาการสมองเสื่อมอย่าง

รวดเร็ว  มีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ  เช่น  ปวดศีรษะ  อัมพาต

ชัก  เดินลำบาก  ล้มบ่อย  กลั้นปัสสาวะไม่อยู่  มีประวัติอุบัติเหตุที่ศีรษะ

มีประวัติรับประทานยากล่อมประสาท  มีประวัติดื่มสุราจัด  หรือมีอาการ

ของโรคซึมเศร้า




ทำอย่างไรสมองไม่เสื่อม



วิธีการง่าย ๆ  ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อม  ทำได้ดังนี้



1.  ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง  โดยตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ

     วัดความดันเลือด  ตรวจโรคเบาหวาน  และตรวจไขมันในเลือด

     ประจำปี  งดสูบบุหรี่  ระวังอย่าให้อ้วน  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ



2.  ระวังการใช้ยากล่อมประสาทเป็นประจำ  หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด



3.  ระวังอุบัติเหตุที่ศีรษะ



4.  ทำงานอดิเรกและทำกิจกรรมที่ใช้สมอง  เข้าร่วมกิจกรรมสัมคม

     และศาสนา



----------------

เมื่อเราเข้าใจเรื่องสมองเสื่อม กันแล้ว และวิธีการง่าย ๆ ที่จะช่วยป้องกัน

สมองเสื่อม ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน  4  วิธี ข้างต้น  ก็ควรทำเป็นประจำในทุกวิธี  



สำหรับวิธีที่ 4   ทำงานอดิเรกและทำกิจกรรมที่ใช้สมอง  เข้าร่วมกิจกรรม

สังคมและศาสนา  ที่ควรทำนั้น  โดยเฉพาะกิจกรรมที่ใช้สมองนั้น

ได้มีหนังสือ พิมพ์จำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นเล่มหนึ่ง  ชื่อ  NOU  WO

KITAERU  OTANA  NO  KEISAN  DORIRU  เขียนโดย  Ryuta

KAWASHIMA   เมื่อปี 2003  เป็นหนังสือที่มียอดขายถล่มถลายมาแล้ว

ทั่วญี่ปุ่นกว่า  1,500,000  เล่ม  



ในเมืองไทย ได้มีผู้แปลหนังสือเล่มนี้ ออกจำหน่าย โดยใช้ชื่อว่า

"เลขคณิตพิชิตสมองเสื่อม"  ฝึกคำนวณง่าย ๆ ภายใน  60  วัน  แปลโดย

อิศเรศ ทองปัสโณว์   พิมพ์โดย บริษัท เนชั่นบุ๊คส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

เป็นหนังสือที่ขายดีเล่มหนึ่ง  พิมพ์จำหน่ายหลายครั้งแล้ว  (พิมพ์ครั้งแรก

เมื่อ มิถุนายน 2550)  ผู้สนใจสามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายหนังสือ

ชั้นนำทั่วไป



---------------



ผมอยากขอเสนอฝึกคิดเลขง่าย ๆ แบบใหม่  ป้องกันสมองเสื่อม แบบของผม

สัก 3 วิธี  ดังนี้



1.  การบวกเลข  จากด้านหน้าไปด้านหลัง

2.  การลบเลข   โดยใช้วิธีบวกเลขแทน

3.  การคูณเลข   โดยคูณไขว้ชั้นเดียว   





วันนี้ มาเริ่มกันที่การบวกเลขกันก่อน  (เป็นการคิดในใจ)





1.  การบวกเลข  จากด้านหน้าไปด้านหลัง





เดิมเราบวกเลขจากขวาไปซ้าย หรือจากหลังไปหน้า สอนกันมานานมาก

ทีเดียว  ประมาณ 100 กว่าปีเห็นจะได้



คราวนี้เราลองมาปฏิรูปกันใหม่ เปลี่ยนเป็นบวกเลขจากซ้ายไปขวา หรือจาก

หน้าไปหลังดูบ้าง   มีผลดีอย่างไรบ้าง




 ผลดีของการบวกเลขแนวใหม่



   1. ทำให้บวกเลขได้เร็วขึ้น



   2. ไม่ต้องจำเลขที่ทด



   3. ลดความผิดพลาดน้อยลง



   4. ให้คำตอบได้ทันที ไม่ต้องรอให้บวกหมดก่อน



   5. ไม่ต้องใช้เครื่องคำนวณเลข  (กรณีจำนวนไม่มากจนเกินไปนัก)



   6. ป้องกันสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ



ลองมาทำความเข้าใจช้า ๆ เพราะเปลี่ยนไป

จากความเคยชิน  และดูภาพประกอบ   



 

 

หลักเกณฑ์ที่สำคัญ  มีเพียง 2 ข้อดังนี้



1. เมื่อจะบวกเลขหลักใด  ให้ชำเลืองดูเลขหลักถัดไปก่อน ว่ารวม



    กันแล้วมีทดหรือไม่  ถ้ามีทดก็ให้นำมารวมกับหลักที่กำลังบวก



    อยู่ด้วย



2. ถ้าเลขหลักถัดไป รวมกันได้ 9  ก็ให้ชำเลืองดูเลขหลักถัดไปอีก



    ว่ารวมกันแล้วมีทดหรือไม่  ถ้ามีทด ก็ให้นำมารวมกับหลักถัดไป



    และนำมารวมกับหลักที่กำลังบวกอยู่ด้วยเท่านั้น  (ถ้าหลักถัด ๆ



    ไปอีก รวมกันได้ 9 ติดต่อกัน ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน)





หมายเหตุ : กรณีบวกเลข 2 จำนวน  เลขทดในการบวกจะมีเลขทด

                เพียง  1  เท่านั้น    






ข้อสำคัญ  :  การป้องกันสมองเสื่อมในผู้สูงอายุนั้น   ให้หาสมุดสัก

เล่มหนึ่งมาทำแบบฝึกหัด  ควรจดเวลาที่ทำเสร็จไว้ด้วย  ว่าทำทุกข้อ

ใช้เวลาไปเท่าไร  และฝึกซ้ำ ๆ กัน  เวลาจะน้อยลงหรือไม่  หากน้อยลง

ก็แสดงว่า  ดีขึ้น   และให้ลองทำแบบฝึกหัดอื่นบ้าง โดยคิดตั้งโจทย์เอง

แบบง่าย ๆ  เช่น  บวกเลข 2 จำนวน หรือ  3 จำนวน ก็พอ   ถ้ามีเวลาว่าง

ก็ขอให้ทำไปเรื่อย ๆ  ฝึกบ่อย ๆ ก็จะชำนาญและทำได้เร็วขึ้น 





ตัวอย่างแบบฝึกหัด (สำหรับการคิดในใจ)





เวลาที่ทำเสร็จ ..........นาที.........วินาที



ให้สร้างแบบฝึกหัดขึ้นเอง สัก  30 แบบฝึกหัด (ตามตัวอย่างข้างต้น)

แล้วทำวันละแบบฝึกหัด แต่ซ้ำกันอย่างน้อยวันละ 5  ครั้ง  สัก 1 เดือน

ก็จะเห็นผล    และควรทำต่อไปเรื่อย ๆ  โดยคิดแบบฝึกหัดขึ้นเอง 

(เป็นโจทย์เลขง่าย ๆ  จะช่วยกระตู้นการทำงานของสมองได้ดี)



(สำหรับ  การลบเลข และการคูณเลข   โปรดติดตามในครั้งต่อไป)





หวังว่า  ท่านจะได้รู้จักและเข้าใจในเรื่องสมองเสื่อมในเบื้องต้น  และวิธี

ง่าย ๆ ในการป้องกัน   สำหรับท่านที่ยังไม่อยู่ในวัยสูงอายุ  ได้ทราบไว้

ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากทีเดียว และรู้จักป้องกันแต่เนิ่น ๆ ด้วย



-----------------
เชิงอรรถ   :    รุ่งนิรันดร์  ประดิษฐสุวรรณ, ผศ.นพ.,"ผู้สูงอายุกับสมองเสื่อม" 

                   ในจุลสาร  The  Alzheimer's  Club   Vol. 3  No.3  2005,

                    หน้า 1-2. 



อ้างอิง     :    ริวตะ  คาวาชิม่า, "เลขคณิตพิชิตสมองเสื่อม", อิศเรศ

                   ทองปัสโณว์ แปล, กรุงเทพฯ : บริษัท เนชั่นบุ๊คส์

                   อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, 2550. 



ภาพประกอบ   :   อินเตอร์เน็ต

ตกแต่งภาพ    :    สุรศักดิ์
 

ที่มา http://www.oknation.net/blog/surasakc/2009/01/21/entry-1

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand