พังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ หรือรองช้ำ(Plantar Fasciitis)

  พังผืดฝ่าเท้าอักเสบ (plantar fasciitis) หรือถ้าเป็นภาษาชาวบ้านอาจเรียกเป็น "รองช้ำ" โดยมีการบาดเจ็บหรือการอักเสบของที่เกาะพังผืดบริเวณส้นเท้า จะมีอาการปวดกดเจ็บบริเวณส้นเท้า มีอาการมากขึ้นขณะยืนหรือเดิน อาจสังเกตว่ามีอาการปวดมากในตอนเช้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งก้าวแรกที่ลงจากเตียง เหตุจากตอนนอนนั้นข้อเท้าและฝ่าเท้าจะอยู่ในท่าซึ่งผ่อนคลาย แต่เมื่อก้าวเดินหลังจากตื่นนอนขึ้นมาพังผืดฝ่าเท้ามีการยืด อย่างทันทีทันใด ทำให้กระตุ้นให้มีอาการปวดขึ้น ในรายที่เป็นไม่มาก อาจมีอาการทุเลาลงหลังจากเดินไปได้สักพัก แต่ในรายที่มีอาการมากขึ้นก็อาจยังมีอาการปวดอยู่ตลอด

ภาวะนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นในกลุ่มคนอ้วน คนซึ่งมีกิจกรรมต้องเดินหรือวิ่งมากๆ คนซึ่งทำอาชีพต้องยืนนานๆ การมีการตึงตัวของเอ็นร้อยหวาย หรือภาวะฝ่าเท้าแบนก็จะมีโอกาสเกิดภาวะนี้ได้มากยิ่งขึ้น

การรักษาทำได้โดยรับประทานยาแก้ปวด แช่น้ำอุ่น เลือกใช้รองเท้าซึ่งมีส้นเท้าสูงเล็กน้อย เพื่อหย่อนพังผืดฝ่าเท้า ในบางรายซึ่งมีฝ่าเท้าแบนอาจเลือกใช้แผ่นรองรองเท้าเพื่อเสริมอุ้งเท้า ควรยืดเหยียดพังผืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย โดยในระยะซึ่งมีอาการมากช่วงเช้าอาจทำตอนที่เพิ่งตื่นนอนโดยใช้ผ้าคล้องผ่านปลายเท้าแล้วดึงให้กระดกข้อเท้าขึ้นสุด ค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที ทำข้างละ 10 ครั้ง แล้วจึงลงเดิน

นอกจากนี้ ควรบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่องและเอ็นร้อยหวายซึ่งเป็นจุดที่มักมีอาการตึงร่วมด้วย สามารถทำได้โดยยืนวางเท้าเหลื่อมกันแล้วค่อยๆ โน้มตัวไปด้านหน้า ส้นเท้าไม่ยกจากพื้นจะรู้สึกตึงบริเวณเท้าหลัง ให้เอนค้างไว้ประมาณ 10 วินาที

การวิ่งควรลดปริมาณลง หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนความเร็วหรือทิศทางทันทีทันใด สำหรับยาฉีดนั้น อาจฉีดยากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบ โดยมักจำกัดการฉีดเพียง 2-3 ครั้ง เพราะต้องการลดผลข้างเคียงเฉพาะที่ของยา ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เพราะอาจมีอาการปวดจากภาวะอื่นในบริเวณข้างเคียงกัน ซึ่งในบางรายอาจต้องการรับการตรวจเริ่มเติม

การรักษา

1. การแช่เท้าในน้ำเย็นเพื่อลดการอักเสบ

2. การรับประทานหรือทายาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เพื่อลดการอักเสบ

3. การทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการปวดและอาการอักเสบ เช่น การทำอัลตราซาวด์ เป็นต้น

4. การออกกำลังเพื่อยืดเอ็นร้อยหวาย โดยทำวันละ 2 – 3 รอบ ๆ ละ 10 – 15 ครั้ง

 

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 1):

ผู้ป่วยยืนหันหน้าเข้าหากำแพงใช้มือ ยันกำแพงไว้ วางเท้าที่ต้องการยืดเอ็นร้อยหวายไว้ข้างหลัง งอข้อศอกพร้อมกับ ย่อเข่าด้านหน้าลงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยขาด้านหลังเหยียดตึงและส้นเท้าติดพื้นตลอดเวลา ย่อลงจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึงแล้วค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง

ท่าบริหารกายภาพบำบัด

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 2):

ผู้ป่วยนั่งเหยียดขาข้างที่ต้องการยืด เอ็นร้อยหวาย ใช้ผ้าคล้องที่ปลายเท้าไว้ แล้วดึงเข้าหาตัวจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึง ค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง

ท่าบริหารกายภาพบำบัด

การยืดเอ็นร้อยหวาย (ท่าที่ 3):

ผู้ป่วยยืนบนขอบพื้นต่างระดับ โน้มตัวไปข้างหน้าจนรู้สึกว่าน่องด้านหลังตึง ค้างไว้นับ 1 – 10 ถือเป็น 1 ครั้ง

ท่าบริหารกายภาพบำบัด

5. การเลือกใช้รองเท้าที่เหมาะสม คือมีส้นเล็กน้อย (สูงประมาณ 1 – 1.5 นิ้ว) เพื่อเป็นการถ่ายเทน้ำหนักตัวจากส้นเท้าไปยังฝ่าเท้าส่วนหน้าซึ่งจะช่วยให้ อาการปวดลดลง

6. การปรับรองเท้าให้เหมาะสม เพื่อช่วยลดอาการปวด โดยการใช้อุปกรณ์เสริมบริเวณอุ้งเท้าด้านใน และบริเวณส้นเท้าโดยใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่นที่เหมาะสมเพื่อกระจายและลด แรงกระแทกบริเวณส้นเท้าและเป็นการถ่ายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้าส่วนหน้า

การป้องกัน

การออกกำลังเพื่อยืดเอ็นร้อยหวายอย่าง สม่ำเสมอและการเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้

********************************************

โดย อ.พญ.กุลภา ศรีสวัสดิ์  , อ.พญ.นวพร ชัชวาลพาณิชย์  คลินิกสุขภาพเท้า ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสต์ศิริราชพยาบาล

ที่มา http://www.pawineept.com/plantar-fasciitis

และ http://www.thairunning.com/pain_heel_mosanam.htm