ก้าวใหม่การรักษากระจกตาเสื่อมด้วยสเต็มเซลล์

      กระจกตา ปกติของคนเราจะใสและมีผิวเรียบ ทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจน การที่กระจกตาสามารถคงความใสอยู่ได้นั้นขึ้นกับหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ ผิวกระจกตา จะต้องไม่มีแผล ไม่มีเส้นเลือดรุกเข้ามา ตัวการสำคัญที่ทำหน้าที่นี้คือ  สเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา

 

          กระจกตาเสื่อม

ภาพ (จาก1.1) หลังผ่าตัด 14 สัปดาห์ กระจกตาใสขึ้น เส้นเลือดที่ตาลดลงและสบายตาขึ้น

  

ภาพ (จาก1.2) จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาอีกครั้งเพื่อการมองเห็น

  

ภาพ (2.1) ก่อนผ่าตัด

  

ภาพ (2.2) หลังผ่าตัด 5 สัปดาห์

          มารู้จักสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา
          สเต็ม เซลล์ของผิวกระจกตา คือเซลล์ที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนโรงงานคอยสร้างเซลล์ ผิวกระจกตาขึ้นมาทดแทนเซลล์เก่าที่ตายไปตลอดเวลา ทำให้ผิวกระจกตาคงความใสและไม่เป็นแผล ตลอดจนทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันไม่ให้เส้นเลือดจากเยื่อตาโตรุกเข้ามาใน กระจกตาได้
          ผลเสียของสเต็มเซลล์เสื่อมหรือตายไป
          หากสเต็มเซลล์เสื่อมหรือตายไป   จะ เกิดภาวะผิวกระจกตาเสื่อม ซึ่งทำให้มีเส้นเลือดงอกเข้ามาในกระจกตา กระจกตาจะขุ่น ตามัวลง และมีแผลถลอกเกิดขึ้นบ่อยที่กระจกตา ซึ่งแผลอาจหายยากหรือไม่หาย  ทำให้กระจกตาติดเชื้อได้ง่าย
          พบได้ในโรคใด
          ภาวะนี้พบได้ในโรคต้อเนื้อ  โรคแพ้อย่างรุนแรง  เช่น  โรค Steven-Johnson   รวมทั้งตาที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี เช่น กรด – ด่างเข้าตา  การติดเชื้อที่กระจกตา หรือตาที่ได้รับการผ่าตัดหลาย ๆ ครั้ง เป็นต้น
          การรักษาทำอย่างไรได้บ้าง
          ภาวะ ผิวกระจกตาเสื่อมนี้ เป็นภาวะที่รักษายาก หากเป็นน้อย อาจระวังไม่ให้เซลล์ที่เหลืออยู่ตายมากขึ้น โดยระมัดระวังในการใช้ยาหยอดตาและหยอดน้ำตาเทียมหล่อลื่นแทน
          หากเป็นรอบกระจกตา  การ รักษาจำเป็นต้องทำการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา ไม่สามารถใช้การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาตามปกติได้ เนื่องจากกระจกตาที่นำมาเปลี่ยนจะกลับขุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีสเต็มเซลล์
          การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา  เราใช้สเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อส่วนที่เป็นรอยต่อของตาดำกับตาขาวมาปลูกถ่ายโดยตรง  ซึ่งเนื้อเยื่อที่ใช้ หากผู้ป่วยเป็นโรคในตาข้างเดียว และตาอีกข้างปกติอยู่ จะใช้เซลล์จากตาดีของผู้ป่วยปลูกถ่าย   แต่หากเป็นโรคในตาทั้ง   2   ข้าง  จำเป็นต้องใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น ซึ่งอาจใช้จากญาติสายตรง  หรือจากตาของผู้เสียชีวิตแล้วที่บริจาคไว้กับศูนย์ดวงตา
          ปัญหาที่พบบ่อย ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
          จากการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ทั้ง 2 ชนิดนี้มากว่า 12 ปี  ปัญหา การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากตาดีของผู้ป่วยเอง หรือจากญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ เราพบว่าปริมาณเซลล์ที่นำมาจากตาข้างดีนั้นจะมีปริมาณน้อย  เนื่องจากเกรงว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นกับตาดีนั้น  ดังนั้นเซลล์ที่ปลูกถ่ายจึงไม่เพียงพอที่จะป้องกันพังผืดที่จะรุกเข้ากระจกตาได้ในระยะยาว และในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคในตาทั้ง 2 ข้าง ที่ต้องนำเซลล์ผู้อื่นมาปลูกถ่าย โอกาสเกิดปฏิกิริยาต่อต้านต่อสเต็มเซลล์นั้นมีได้สูง เนื่องจากเซลล์ที่นำมาปลูกถ่ายมิใช่ของผู้ป่วยเอง จำเป็นต้องให้ยากดภูมิคุ้มกันรับประทานเป็นระยะเวลานานหรือตลอดชีวิต ทำให้ผลการรักษาไม่ดีนักและเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากยากดภูมิสูง  อาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายอีกทั้งยามีราคาสูงมาก
          ทางเลือกใหม่ของการรักษา
          จากปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีการค้นคว้าหาวิธีใหม่ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตา โดย นำสเต็มเซลล์ไปเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการก่อนนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ก่อนการปลูกถ่ายและลดโอกาสการเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน เนื้อเยื่อ ซึ่งวิธีนี้มีรายงานทางการแพทย์ว่า  ในปี 1997 ประเทศอิตาลี เป็นประเทศแรกที่ใช้รักษา โดย Dr.Pellegrini   ต่อมาวิธีนี้ได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศอิตาลี   ไต้หวัน   ญี่ปุ่น   สหรัฐอเมริกา   อังกฤษ   และอินเดียว่า   เป็นมาตรฐานหนึ่งในการรักษาภาวะการเสื่อมของผิวกระจกตา โดยใช้ระยะเวลาในการติดตามผล 1 -  4 ปี  พบว่าวิธีนี้ประสบความสำเร็จสูงถึง 75%
          การ เลี้ยงสเต็มเซลล์ จะนำเนื้อเยื่อบริเวณรอยต่อของตาดำและตาขาว ซึ่งมีสเต็มเซลล์อยู่ไปเลี้ยงบนเยื่อรกในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อประมาณ 2 - 4  สัปดาห์ จากเซลล์ขนาด 2 X 2 มม. ให้โตเพิ่มปริมาณขึ้นเป็น 20 X 20 มม. จากนั้นจึงนำเยื่อรกที่มีสเต็มเซลล์อยู่บนผิวมาปลูกถ่ายกลับลงบนผิวกระจกตา
          ข้อดีของการเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ   ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ก่อนการปลูกถ่ายให้เพียงพอแก่ความต้องการและคลุมผิวกระจกตาได้ทั้งหมด  อีกทั้งลดอันตรายต่อตาข้างที่ดีของผู้ป่วย หรือญาติที่จะต้องนำสเต็มเซลล์มาใช้  เท่ากับ เพิ่มโอกาสในการปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์ของตนเองได้มากขึ้น ลดความเสี่ยงและลดงบประมาณในการใช้ยากดภูมิซึ่งมีราคาแพง นอกจากนี้ในกรณีใช้สเต็มเซลล์จากผู้อื่น ยังทำให้โอกาสการเกิดปฏิกิริยาต่อต้านต่ำกว่า และปริมาณการรับประทานยากดภูมิต้านทานก็น้อยกว่าการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แบบ ดั้งเดิม เนื่องจากเซลล์ที่นำมาปลูกถ่ายมีเพียงเซลล์ผิวชั้นเดียวเท่านั้น
          ปัจจุบันคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลโดยความร่วมมือของภาควิชาจักษุวิทยา ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน  ภาค วิชาพยาธิวิทยา และศูนย์เนื้อเยื่อชีวภาพกรุงเทพฯ ได้ทำการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาในห้องปฎิบัติการบนเยื่อรกโดย วิธีปลอดเชื้อในห้องปฎิบัติการที่ได้มาตรฐานสูง โดยเซลล์ที่เพาะเลี้ยงได้นั้นมีการตรวจสอบพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาว่าเป็นสเต็ม เซลล์ของผิวกระจกตาจริงและได้ปลูกถ่ายกลับให้ผู้ป่วยแล้วเป็นผลสำเร็จ ทั้งสิ้น 5 ราย เป็นเซลล์จากผู้บริจาค 2 ราย เซลล์ของผู้ป่วยเอง 2 ราย และเซลล์จากญาติ 1 ราย ระยะเวลาติดตามผลเฉลี่ย  4  เดือน ( 1 - 6 เดือน)  พบว่าหลังผ่าตัดเซลล์ผิวกระจกตาติดดีตั้งแต่วันแรกและยังคงสภาพอยู่ได้ไม่หลุดลอก  เส้นเลือด ที่กระจกตาลดลง การอักเสบในตาลดลง กระจกตาเริ่มใสขึ้นและการมองเห็นเริ่มดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่เนื้อกระจกตาขุ่นในชั้นลึก หลังจากทำผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์แล้ว จะต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพื่อการมองเห็นต่อไปในอนาคต เท่ากับเป็น การเตรียมความพร้อมและเพิ่มโอกาสให้การผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาประสบความสำเร็จ สูงขึ้น
          อย่างไร ก็ตามโอกาสการรักษาจะประสบความสำเร็จขึ้นกับสภาพดวงตาและโรคของผู้ป่วย ดังนั้นก่อนผ่าตัดจึงจำเป็นต้องคัดกรองผู้ป่วยที่มีสภาวะเหมาะสม  อีกทั้งการรักษานี้ยังจำเป็นต้องมีการติดตามผลการรักษาในระยะยาวด้วย
          1. ผู้ป่วยโรคสตีเวนส์ จอห์นสัน เป็นผู้ป่วยรายแรกในประเทศไทยที่ทำการรักษาด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผิวกระจกตาจากโรงพยาบาลศิริราช
          2. การเก็บเซลล์จากข้างดีมาใช้ในการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์   จะเกิดแผลเพียงเล็กน้อยและหายในเวลา 3 - 4 วัน เหลือเพียงแผลเป็นจางๆ และไม่มีผลต่อการมองเห็น


รศ.พญ.ภิญนิตา  ตันธุวนิตย์ (ภาควิชาจักษุวิทยา)
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand