home » การดูแลผู้ป่วยขณะใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ »

การดูแลผู้ป่วยขณะใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้


catheter.jpg การสวนปัสสาวะ

การสวนปัสสาวะ หมายถึง การใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยผ่านเข้าทางท่อปัสสาวะ ซึ่งจะกระทำเมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น เพราะเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะสูงมาก

จุดประสงค์ในการสวนปัสสาวะ

1. เพื่อควบคุมหรือฝึก (train) การขับถ่ายปัสสาวะในผู้ป่วยที่กลั้นปัสสาวะไม่ได้

2. เพื่อให้ปัสสาวะสามารถระบายออกได้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถขับถ่ายปัสสาวะได้เอง

3. เพื่อเก็บปัสสาวะที่สะอาดไม่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคที่อยู่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอก
และทวารหนักส่งเพาะเชื้อ

4. เพื่อวัดจำนวนปัสสาวะที่คั่งค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะภายหลังถ่ายปัสสาวะเสร็จทันที
(Residual Urine)

5. เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะว่างระหว่างการผ่าตัด

6. เพื่อใส่ยาในกระเพาะปัสสาวะ

7. เพื่อบันทึกจำนวนปัสสาวะทุก 1 ชั่วโมง ในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤต

8. เพื่อล้างกระเพาะปัสสาวะเป็นระยะ ๆ หรือต่อเนื่องกันตลอดเวลา
 

ลักษณะและส่วนประกอบของน้ำปัสสาวะปกติ

ปัสสาวะปกติมีสีเหลืองจาง ๆ และใส กลิ่นแอมโมเนียเป็นกรดอ่อน ๆ มีความถ่วงจำเพาะ 1,003-1,032 เป็นส่วนประกอบของน้ำ 90-95% ของเสียจำพวกที่มีส่วนประกอบของสารไนโตรเจน ได้แก่ ยูเรีย ครีตินิน กรดยูริค ฯลฯ ประมาณ 3.7% ของเสียจำพวกสารอนินทรีย์ ได้แก่ โซเดียมคลอไรด์ แมกนีเซียม แอมโมเนีย ฯลฯ อิเล็คโทรลัยต์ ฮอร์โมน สารสี และสารพิษประมาณ 1.3% ส่วนประกอบที่เจือปนได้เล็กน้อย คือ เม็ดเลือดขาว เซลล์บุผิว ผลึกของเกลือรูปต่าง ๆ แต่ไม่ควรพบโลหิต หนอง ไข่ขาว หรืออัลบูมิน น้ำตาล อซีโตน (acetone) สารน้ำดี (bile pigment) อยู่ด้วย ถ้าพบแสดงว่ามีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบอื่นร่วมด้วย

องค์ประกอบที่มีอิทธิพลต่อการสร้างและการทำหน้าที่ขับถ่ายปัสสาวะ

ในขณะที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง และอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติ จำนวนปัสสาวะที่สร้างขึ้นลักษณะของปัสสาวะ ปริมาณของการขับถ่ายแต่ละครั้ง และจำนวนครั้งใน 24 ชั่วโมง จะขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบดังต่อไปนี้

1. จำนวนน้ำที่เข้าและสูญเสียออกจากร่างกาย เมื่อมีการลดหรือเพิ่มปริมาณของน้ำในร่างกาย จะมีผลให้ปริมาตร ลักษณะ และจำนวนครั้งของการขับถ่ายปัสสาวะเปลี่ยนแปลง เช่น ดื่มน้ำน้อย หรือสูญเสียน้ำมากทางเหงื่อ หรืออุจจาระ หรือเสียเลือดจำนวนมาก จะทำให้ปัสสาวะเข้ม มีความถ่วงจำเพาะสูง ถ่ายปัสสาวะจำนวนครั้งน้อยลง ปริมาตรปัสสาวะน้อยลง

2. อาหาร อาหารบางชนิดมีส่วนทำให้ส่วนประกอบของปัสสาวะเปลี่ยนแปลง ถ้ารับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้ทำให้ปัสสาวะเป็นด่างสูง ในภาวะที่ปัสสาวะเป็นด่างจะเป็นเหตุส่งเสริมให้เกิดนิ่วได้ง่าย ส่วนอาหารจำพวกโปรตีน เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ถ้ารับประทานมากปัสสาวะจะมีกรดยูริคสูง และมีความเป็นกรดสูง การที่ปัสสาวะมีสภาพเป็นกรดมาก (PH 4.5) จะเป็นอันตรายต่อท่อไต และพบว่า ถ้ารับประทานอาหารโปรตีนในปริมาณสูง จะทำให้มีปัสสาวะออกมากอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบว่า กาแฟ น้ำชา เหล้า มีส่วนเพิ่มการสร้างปัสสาวะและทำให้ถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง

3. ยาหรือปัจจัยทางเภสัชวิทยา ซึ่งได้แก่ ยาหรือสารเคมีต่าง ๆ ส่วนมากเมื่อถูกนำเข้าสู่ร่างกายจะขับถ่ายออกมากับปัสสาวะ ยาบางชนิดทำให้ส่วนประกอบของปัสสาวะเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ไพริเดี่ยม (Pyridium) ใช้สำหรับฆ่าเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมีสีส้มแดงคล้ายปัสสาวะเป็นเลือด แต่ใสกว่า ยาประเภทซัลฟาทำให้ปัสสาวะตกตะกอนขุ่นเกิดเป็นนิ่วในกระเพาะปัสสาวะได้ ดังนั้นเมื่อรับประทานยาประเภทนี้ควรดื่มน้ำมาก ๆ ยาขับปัสสาวะ (diureties) ซึ่งมีฤทธิ์ลดการดูดกลับเกลือโซเดียมคลอไรด์จะทำให้มีการสร้างปัสสาวะจำนวน มากขึ้น นอกจากนั้นยาประเภทระงับอาการปวดอาจมีผลทำให้ถ่ายปัสสาวะไม่ออกได้

4. อายุ อายุมีอิทธิพลต่อจำนวนครั้ง และปริมาตรของปัสสาวะที่ขับถ่ายแต่ละครั้ง และปริมาตรรวมใน 24 ชม . ในวัยเด็กจำนวนน้ำปัสสาวะที่ถูกสร้างขึ้นจะมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะสัดส่วนของจำนวนน้ำที่มีอยู่ในร่างกายมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อคิดเทียบตาม น้ำหนักตัว นอกจากนั้นยังพบว่าจำนวนครั้งในการขับถ่ายปัสสาวะมีบ่อยกว่าผู้ใหญ่ เพราะกระเพาะปัสสาวะมีขนาดเล็กกว่าจึงมีความจุน้อยกว่า แต่จะพบว่าในผู้สูงอายุจำนวนครั้งของการขับถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้งขึ้น ซึ่งอาจไม่ได้มีสาเหตุจากพยาธิสภาพของโรค แต่เป็นเรื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติตามวัย กระเพาะปัสสาวะไวต่อความจุของจำนวนปัสสาวะ เพียงแค่ 150-200 มล . กระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวทำให้รู้สึกปวดอยากถ่ายปัสสาวะ

5. อารมณ์ ความวิตกกังวล และความเครียดมีผลให้ปวดถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง นอกจากนี้ความกลัวที่รุนแรงอาจทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ แต่ความเจ็บปวดจะยับยั้งความรู้สึกปวดถ่ายปัสสาวะ

6. กิจกรรมของร่างกาย เมื่อร่างกายกระทำกิจกรรมต่าง ๆ มาก จะทำให้มีการเผาผลาญสารอาหารมากขึ้น ซึ่งทำให้มีการสร้างปัสสาวะมากขึ้นด้วย

7. การเปลี่ยนแปลงของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายตามธรรมชาติจะพบว่า เมื่อมีการ ตั้งครรภ์ จะมีการถ่ายปัสสาวะบ่อยครั้ง เนื่องจากมดลูกโตขึ้นไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ

ปัญหาที่พบเกี่ยวกับการขับถ่ายปัสสาวะ

ในภาวะปกติที่ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงและอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติ การขับถ่ายปัสสาวะมักจะปกติ ทั้งจำนวนครั้งและปริมาตรรวม กล่าวคือ ตอนกลางวันผู้ใหญ่จะถ่ายปัสสาวะวันละ 3-5 ครั้ง ส่วนกลางคืนอาจ
มีการขับถ่าย 1 ครั้ง หรือไม่มีเลยก็ได้ จำนวนปัสสาวะที่ถ่ายออกมาแต่ละครั้งประมาณ
250-450 มล . ปริมาตรรวมโดยเฉลี่ยใน 24 ชั่วโมง ประมาณ 1,200-1,500 มล . แต่ไม่ควรน้อยกว่า 30 มล .
ใน 1 ชั่วโมง หรือ 700 ใน 24 ชม . และไม่ควรเกิน 3,000 มล . ใน 24 ชม . ขณะขับถ่ายจะไม่มีอาการ
เจ็บปวดหรือขัด หรือถ่ายไม่ออก หรือกลั้นไม่ได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ระบบทางเดินปัสสาวะทำหน้าที่กรอง
ของเสียและขับน้ำออกจากร่างกายได้ไม่สมบูรณ์หรือทำหน้าที่ไม่ได้ตามปกติผู้ป่วยจะมีอาการ
และอาการแสดงที่ผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อย และมีความสำคัญมากได้แก่ ภาวะกลั่นปัสสาวะไม่อยู่
(Urinary ร incontinence) ถ่ายปัสสาวะลำบาก (dysuria) ถ่ายปัสสาวะไม่ออก (Urinary retension)
และอาการอื่น ๆ อีก ซึ่งแต่ละภาวะอาจมีสาเหตุแตกต่างกันหรือสาเหตุซับซ้อน และอาจส่งผลกระทบที่ร้ายแรง
แก่ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ยังรวมถึงการไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการขับถ่ายปัสสาวะด้วย

อาการและอาการแสดงที่ผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ อาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้ การให้การช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาล จะต้องกระทำด้วยความรอบครอบ ระมัดระวัง เพื่อป้องกันมิให้เกิด
ผลเสียทางด้านร่างกาย และหรือจิตใจเพิ่มมากขึ้น สิ่งแรกที่พยาบาลพึงกระทำคือ การประเมินสภาพและปัญหา
ของผู้ป่วย พยาบาลควรใช้ศิลปะในการเข้าถึงผู้ป่วยและยอมรับในความเป็นปัจเฉกบุคคลที่อยู่ภายใต
้ขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม สังคม ความเชื่อและเศรษฐกิจ ที่ทำให้บุคคลมีการตอบสนองต่อปัญหาหรือความเจ็บป่วยของตนเองแตกต่างกันไป บางคนไม่กล้าพูดเพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่บังควรเปิดเผย เพราะฉะนั้นพยาบาลจะต้องเข้าใจในพฤติกรรมของผู้ป่วยและสร้างความไว้วางใจให้ เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยกล้าที่จะบอกเล่าสาเหตุและหรืออาการของความเจ็บป่วยที่เป็น จริง

การดูแลผู้ป่วยขณะใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้


เพื่อป้องกันการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ พยาบาลจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือ และให้ความรู้แก่ผู้ป่วย
และญาติดังนี้

1. ให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอประมาณวันละ 1,500-3,000 ซีซี แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดกับแผนการรักษา
ของแพทย์ เพราะน้ำจะทำหน้าที่เป็นตัวชะล้างเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ไม่ให้คั่งค้างอยู่ภายในกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ

2. รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ และตรงรูเปิดของท่อปัสสาวะวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หรือทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ เช่น แซ็ฟล่อน 1:100 ห้ามโรยแป้งบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ เพราะแป้งอาจไปจับเยื่อเมือกที่ออกมาทำให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคได้มากขึ้น

3. ดูแลให้ปัสสาวะไหลได้สะดวกดี โดยระวังไม่ให้สายสวนปัสสาวะบิดหรือหัก ถุงปัสสาวะอยู่ต่ำกว่าระดับกระเพาะปัสสาวะเสมอในผู้ป่วยที่มีปัสสาวะขุ่นมาก หรือมีตะกอน ลิ่มเลือดให้บีบรูดสายสวนปัสสาวะเป็นระยะ ๆ เพื่อป้องกันการอุดตัน

4. ดูแลให้การคาสายสวนปัสสาวะเป็นระบบปิดตลอดเวลา การเก็บปัสสาวะส่งตรวจจะ
ต้องใช้วิธีกีดกั้นเชื้ออย่างเคร่งครัด การเทปัสสาวะออกทั้งจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังการปนเปื้อน โดยไม่ให้ท่อสำหรับเทน้ำปัสสาวะออกจากถุงสัมผัสกับกรวยหรือภาชนะรับน้ำ ปัสสาวะ ภายหลังเทปัสสาวะออกแล้วใช้สำลีแอลกอฮอล์ 70% เช็ดท่อและปิดทันที

5.ดูแลไม่ให้พลาสเตอร์หลุดเพราะจะทำให้สายสวนปัสสาวะเลื่อนเข้าออกหรือดึงรั้งทำให้
เกิดการบอบช้ำหรือระคายเคืองทางเดินปัสสาวะ หรือเกิดการนำเชื้อโรคเข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้โดยตรงเมื่อสายสวนปัสสาวะเลื่อนเข้า

6. แนะนำและให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ เรื่องการปฏิบัติตัวขณะที่ใส่สายสวนปัสสาวะคาอยู่ เกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องดื่มน้ำมาก ๆ การระมัดระวังรอยเชื่อมต่อของสายสวนหลุดจากกัน การให้ถุงรองรับน้ำปัสสาวะต่ำกว่าระดับเอว การดูแลไม่ให้สายสวนปัสสาวะหักพับหรือนั่งทับ
เพื่อให้น้ำปัสสาวะไหลได้สะดวก

การยกเลิกการคาสายสวนปัสสาวะ

ในผู้ป่วยที่คาสายสวนปัสสาวะไว้ ก่อนจะถอดสายสวนปัสสาวะออก โดยทั่วไปแพทย์จะฝึกหัดให้ผู้ป่วยรู้สึกปวด และควบคุมการขับถ่ายก่อน (Bladder training) ทุก 4 ชั่วโมง ประมาณ 2-3 ครั้ง โดยใช้คีมจับหลอดเลือดหนีบท่อยางของถุงรองรับปัสสาวะไว้ เป็นการปิดกั้นไม่ให้ปัสสาวะไหล แล้วจึงทำการถอดสายสวนโดยเตรียมกระบอกฉีดยาขนาด 10 ซีซี ชามรูปไต 1 ใบ ชุดทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์ สำลีชุบเบนซิน และสำลีแอลกอฮอล์ โดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. ให้สำลีชุบเบนซินที่พลาสเตอร์เพื่อให้ลอกหลุดง่าย

2. ใช้สำลีแอลกอฮอล์เช็ดรอยเบนซินให้หมด เพราะผิวหนังอาจระคายเคือง และเป็นการขจัดกลิ่นเบนซิน

3. ทำความสะอาดอวัยวะสืบพันธุ์และตรงรูเปิดของท่อปัสสาวะให้สะอาด

4. ใช้กระบอกฉีดยาที่เตรียมมาดูดน้ำออกจากบอลลูนให้หมด สังเกตหางอีกข้างหนึ่งจะแฟบ

5. บีบสายสวนปัสสาวะแล้วค่อย ๆ ดึงออกใส่ชามรูปไต

6. ถ้ามีการบันทึกปัสสาวะจะต้องบันทึกปัสสาวะในถุงปัสสาวะทั้งหมดก่อนนำไปทิ้ง

7. ภายหลังเลิกคาสายสวนปัสสาวะ พยาบาลจะต้องคอยสังเกต และให้การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถปัสสาวะได้เองภายใน 6-8 ชั่วโมง

Enhanced by Zemanta

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand