มือขวาของแพทย์

  ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหุ่นยนต์ กับการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เริ่มเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผ่าตัด ดูแลผู้ป่วย ไปจนถึงกายภาพบำบัด ในฐานะมือขวาของแพทย์

          แนวคิดการพัฒนาหุ่นยนต์ทางการแพทย์ ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากเวชศาสตร์ฟื้นฟูมีผลยืนยันชัดเจนแล้วว่า การที่ผู้ป่วยฝึกเดินบนลู่วิ่งไฟฟ้า หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยกายภาพบำบัด ให้ผลการฟื้นฟูได้มากกว่าการฝึกกายภาพด้วยตัวเอง

          จากแนวคิดดังกล่าว ทำให้ "นพ.ภาริส วงศ์แพทย์" ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดไอเดียพัฒนาหุ่นยนต์กายภาพ ฟื้นฟูแขนและไหล่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อทดแทนหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าด้วยต้นทุนสูง และการบำรุงรักษาที่ทำได้ยาก

 

พลิกโฉมวงการแพทย์

          “ทุกวันนี้ มีผู้ป่วยใหม่ด้วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาตราว 2-4 หมื่นคนต่อปี ความพิการตกค้างได้สร้างปัญหากับการใช้ชีวิต โดยกว่า 50% ของผู้ป่วยไม่สามารถลุกขึ้นยืน เดิน ทรงตัว หรือใช้มือใช้แขนได้เหมือนปกติ ขณะที่การฟื้นฟูก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งคนฝึกและคนถูกฝึก” นพ.ภาริสกล่าว

          ที่ผ่านมา จึงได้มีความพยายามในการพัฒนาเครื่องมือช่วยกายภาพบำบัดในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เกมช่วยฟื้นฟู หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์ฟื้นฟู แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร

          2 ปีที่ผ่านมา นพ.ภาริส เดินหน้าเก็บข้อมูลรูปแบบการกายภาพที่ได้ผล โดยทำงานร่วมกับ ดร.ปราการเกียรติ ยังคง ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ จากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO)  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในการสร้างต้นแบบหุ่นยนต์กายภาพที่สามารถใช้งานได้จริง 

          เขาบอกว่า หุ่นยนต์ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพการเคลื่อนไหวแขน หรือ SensibleTAB ถูกออกแบบให้มีมุมมองการฝึกที่แตกต่างออกไป มีความซับซ้อนน้อย โดยเทคนิคการประคองแขนให้เคลื่อนไหวไปมา อีกทั้งเพิ่มการรับรู้ให้กับหุ่นยนต์ขณะที่คนไข้เริ่มออกแรง เพิ่มศักยภาพในการบังคับ และเรียนรู้ความเคลื่อนไหวภายใต้ภาวะความไร้ความรู้สึกได้อย่างชาญฉลาด ที่สำคัญ หุ่นยนต์นี้จะต้องผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงมาก 

          ทั้งนี้ นอกจากกระบวนการฟื้นฟูที่ใช้จะเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์แล้ว จากนี้ไป จะเป็นขั้นตอนการเก็บข้อมูลผลการรักษาจริงกับคนไข้อัมพฤกษ์อัมพาตเรื้อรัง หรือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือบาดเจ็บทางสมองที่มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก เอื้อมแขนขยับแขนไปมาไม่ได้เท่าข้างปกติ และมีอาการมาแล้ว นานกว่า 6 เดือน ร่วมกับโรงพยาบาลที่ให้ความสนใจ ได้แก่ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลรามาธิบดี กองเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และโรงพยาบาลโพธาราม คาดว่าจะใช้เวลาเก็บข้อมูล 1-2 ปี ควบคู่กับการเปิดตลาดในประเทศ

 

งานวิจัยสู่ตลาด

          ต้นแบบของหุ่นยนต์กายภาพ SensibleTAB ผลิตขึ้นภายใต้ บริษัท ทีเอ็มจีไอ จำกัด ซึ่งมี นพ.ภาริส นั่งแท่นเป็นกรรมการผู้จัดการ มีเป้าหมายใน 5 ปีแรก คือ การเปิดตลาดในประเทศ ก่อนที่จะผลักดันสินค้าออกไปขายในตลาดสากล

          เขามองว่า ตลาดที่น่าสนใจของหุ่นยนต์นักกายภาพอยู่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับการดูแลฟื้นฟูสุขภาพ รวมถึงอเมริกา ที่มีแนวโน้มการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยในการรักษามากขึ้น

          สิ่งที่ทำให้ นพ.ภาริส มั่นใจว่า หุ่นยนต์จะไปได้ไกลในตลาดโลก คือ ใบเบิกทางจากมาตรฐานสากลที่พิสูจน์ได้ การรับรองคุณภาพเครื่องมือแพทย์ และหลักฐานเชิงวิจัยจากการใช้งานจริง 

          นอกจากนี้ กลไกสำคัญที่ช่วยสร้างความมั่นใจ คือ การสนับสนุนจากภาครัฐ โครงการนวัตกรรมหุ่นยนต์กายภาพนี้ ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ผ่านโครงการนวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา ราว 8.5 แสนบาท จากมูลค่าโครงการรวม 2.4 ล้านบาท 

          “เงินสนับสนุนจากภาครัฐ ที่แม้จะไม่ใช่ทั้งหมดของมูลค่าโครงการรวม แต่ก็ช่วยให้เบาแรงในการสร้างต้นแบบ ซึ่งต้องใช้ต้นทุนสูงและเป็นไปอย่างยากลำบาก ได้มองเห็นความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมว่าเป็นไปได้มากขึ้น” กรรมการผู้จัดการทีเอ็มจีไอกล่าว

          กลไกการสนับสนุนของ สนช. คือ ช่วยเอกชนที่สามารถยืนอยู่ได้บนขาของตัวเองมากกว่า 80%  เดินหน้าไปสู่ความสำเร็จ โดยราคาขายหุ่นยนต์กายภาพที่ตั้งไว้ไม่เกิน 4 ล้านบาท กับความหวังที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ รวมถึงศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู จะมีหุ่นยนต์ไว้เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ป่วย คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลจนเกินเอื้อม

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand