โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพ

การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบมีวิวัฒนาการที่ยาวนาน เริ่มจากการใช้ “บอลลูน” ต่อมา คือ การใช้ขดลวดโลหะ (สเต็นท์) แบบธรรมดา และพัฒนาไปสู่ “สเต็นท์เคลือบยา” ลดการตีบซ้ำ จนถึงปัจจุบันได้มีนวัตกรรม “โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพ” ย่อยสลายเองได้ ส่วนจะแตกต่างจาก “สเต็นท์”อย่างไรไปฟังคำตอบกัน

รศ.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ แพทย์หน่วยโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนายกสมาคมมัณฑนากรหัวใจและหลอดเลือดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สเต็นท์ทำมาจากวัสดุที่เป็นโลหะ อาจจำกัดการขยายตัวและบีบตัวของหลอดเลือด หรืออาจไปบดบังการฉายรังสีเอกซเรย์ การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ) รวมทั้งมีโอกาสทำให้เม็ดเลือดยึดเกาะรวมตัวกันและจับตัวกันเป็นลิ่มเลือดที่ อาจเป็นอันตรายได้ ในปัจจุบันยังมีการใช้สเต็นท์อยู่ แต่ท่อค้ำยันชีวภาพก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ดี เพราะมีความปลอดภัยสูง โอกาสเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบซ้ำก็พอ ๆ กับสเต็นท์เคลือบยา

โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพ สามารถหด คลายตัว เคลื่อนไหวได้เหมือนกับหลอดเลือดปกติ ช่วยลดข้อจำกัดของขดลวดถ่างขยายที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำหน้าที่เปิดและเป็นโครงสร้างค้ำยันให้กับหลอดเลือดที่ตีบตัน จนกระทั่งหลอดเลือดนั้นได้รับการรักษาจนทำหน้าที่ได้ตามปกติ ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนของโลหิต เมื่อเวลาผ่านไปโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพก็ย่อยสลายไปเอง

โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพผลิตจาก “โพลีแลคติก แอซิด” เป็นวัสดุที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่า มีความเข้ากันได้ทางชีวภาพกับร่างกายมนุษย์และเป็นวัสดุที่นิยมใช้ในการฝัง อุปกรณ์ทางการแพทย์ไว้ในร่างกายมนุษย์ เช่น ไหมเย็บแผลชนิดละลายได้ ซึ่งโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพจะเริ่มสลายตัวในช่วง 6 เดือนหลังจากที่มีการฝังเข้าไปและจะสลายตัวไปจนหมดสิ้นภายในระยะเวลา 2 ปี

ผลการวิจัยในต่างประเทศ ทั้ง ออสเตรเลีย เบลเยียม เดนมาร์ก ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ โปแลนด์และสวิตเซอร์แลนด์ พบว่า โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพสามารถรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจได้ และหลอดเลือดที่มีการฝังโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพสามารถขยายและบีบตัว ได้โดยไม่ถูกจำกัดการเคลื่อนไหวจากอุปกรณ์ที่ฝังไว้ รวมทั้งไม่ปรากฏกรณีของการเกิดลิ่มเลือดด้วย

โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพเหมาะกับคนไข้หลอดเลือดหัวใจตีบที่อายุน้อย ๆ เพราะหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดีกว่าในกลุ่มผู้สูงอายุ รวมถึงคนไข้ที่มีการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณส่วนต้น เส้นเลือดมีขนาดใหญ่ ส่วนผู้ป่วยที่เกิดการอุดตันของเส้นเลือดบริเวณส่วนปลาย เส้นเลือดแข็งตัว มีหินปูนเกาะเยอะจะทำได้ยากหรือไม่สามารถทำได้เลย ทั้งนี้มิได้หมายความว่าในผู้สูงอายุจะทำไม่ได้เลย หากมีหลอดเลือดหัวใจยืดหยุ่น หินปูนเกาะน้อยก็ยังได้ประโยชน์จากการใช้โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพอยู่ ในบ้านเรา หากมีอุปกรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจก็น่าจะทำได้ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคพิเศษ เพียงแต่จะต้องมีการฝึกอบรมพอสมควร อาทิ การเอกซเรย์ การอบรมพยาบาลในห้องสวนหัวใจ การศึกษาว่าจะใส่โครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพได้อย่างไร ซึ่งโครงค้ำยันขยายหลอดเลือดชีวภาพยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ยังไม่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย เพราะเพิ่งมีการนำเข้ามาในประเทศไทย เพื่อใช้สอน แสดงเท่านั้นท้ายนี้คงต้องบอกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ทั้งในประชากรชายและหญิงทั่วโลก ผู้ชายมีความเสี่ยงกว่าผู้หญิง แต่ความเสี่ยงในผู้หญิงจะเพิ่มขึ้นหลังวัยหมดประจำเดือน โรคนี้เป็นภาวะที่หลอดเลือดแดงที่ส่งเลือดไปเลี้ยงหัวใจตีบหรืออุดตันจากการ สะสมของ “พลัค” ที่เกิดจากไขมัน คอเลสเตอรอล แคลเซียม หรือสารอื่น ๆ ที่สะสมบนผนังด้านในหลอดเลือดแดง เวลาผ่านไปคราบพลัคจะแข็งตัวปิดกั้นหลอดเลือดหัวใจ อาการบ่งชี้ เช่น เจ็บหน้าอก หายใจถี่ แน่นหน้าอกขณะที่ทำกิจกรรมหรือเครียด ส่วนอาการอื่น ๆ เช่น ปวดแขน ปวดขากรรไกร แสบร้อนหน้าอก ลิ้นปี่ คลื่นไส้ อาเจียน มีเหงื่อออกมาก หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์ทันที.

นวพรรษ บุญชาญ

 

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand