home » การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้าน »

การดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้าน

ความชุกและอุบัติการณ์ของโรค กลับเพิ่มมากขึ้นทั่วโลกทั้งประเทศที่พัฒนามาแล้ว และกำลังพัฒนาประมาณว่า ทั่วโลกมีคนเป็นเบาหวานอย่างน้อย 135 ล้านคนและจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 10 ปีข้างหน้า ตามที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ ส่วนประเทศไทยโรคเบาหวาน ก็เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญโรคหนึ่ง เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ มีผลกระทบให้ประชากรไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และแนวโน้มในการบริโภคอาหารเปลี่ยนไป และขณะนี้ความชุกของโรคเบาหวานในประชากรสูงอายุ พบเพิ่มขึ้นร่วมกับประชากรไทยจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น จึงมีโอกาสพบโรคนี้มากขึ้น อันตรายมากกว่านี้เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรค เนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดอัมพาตและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจตาบอด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของ หลอดเลือดที่จอรับภาพของตาผิดปกติ อันตรายจากโรคไตเสื่อมสมรรถภาพ และอาจถูกตัดขาเนื่องจากแผลเน่าเปื่อยสูงกว่าคนปกติ ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวาน ต้องมีความรู้เพื่อที่จะรู้จักดูแลตนเอง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ใกล้เคียงปกติมากที่สุดเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวน้อยที่สุด

            สัญญาส่อเค้าที่สำคัญและพบบ่อยคือ

            1. ถ่ายปัสสาวะบ่อยและจำนวนมาก จากการที่ไตกรองน้ำตาลออกมาสู่ปัสสาวะและดึงน้ำออกมาด้วยยิ่งระดับน้ำตาลใน เลือดสูงมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะบ่อยและจำนวนมากขึ้น เท่านั้น ทำให้แบบแผนการขับถ่ายปัสสาวะเปลี่ยนไปคือต้องตื่นมาเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน บ่อยขึ้น

            2. คอแห้ง กระหายน้ำและดื่มน้ำมาก เนื่องจากร่างกายเสียน้ำทางปัสสาวะจำนวนมาก จึงเกิดการขาดน้ำทำให้กระหายน้ำมาก ดื่มน้ำบ่อยและจำนวนมากเพื่อชดเชยส่วนที่เสียไป

            3. น้ำหนักลด ผอมลงและอ่อนเพลีย เนื่องจากร่างกายเอาน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้เพราะขาดอินซูลิน จึงมีการสลายพลังงานจากไขมันและโปรตีนที่เก็บสะสมมาใช้เป็นพลังงานแทน จึงทำให้ร่างกายอ่อนเพลียและน้ำหลักลด

            4. หิวบ่อย กินจุ เป็นผลจากร่างกายขาดพลังงานเนื่องจากไม่สามารถนำน้ำตาลกลูโคสในเลือดไปใช้ ได้ร่วมกับมีการสลายเนื้อเยื่อต่างๆ ภายในร่างกาย เพื่อชดเชยภาวะนี้จึงมีอาหารหิวบ่อยและกินจุ

            นอกจากนี้มักจะมีแผลหายยาก มีการติดเชื้อตามผิวหนัง เกิดฝีบ่อยเนื่องจากความสามารถของเม็ดเลือดขาวในการจำกัดเชื้อโรคลดลงหรือ คันตามผิวหนัง มีการติดเชื้อราโดยเฉพาะบริเวณชอกอับ ช่องคลอด ชาตามปลายมือปลายเท้า

            ดังนั้นผู้ที่มีสัญญาณส่อเค้าดังกล่าว ควรไปรับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นเบาหวานหรือไม่ รวมถึงบุคคลที่มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้โดยไม่รู้ตัวได้แก่ กลุ่มคนที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นเบาหวาน อ้วน คลอดบุตรน้ำหนักแรกคลอดเกิน 4 กิโลกรัม ซึ่งต้องหมั่นไปตรวจหาระดับน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้าบ่อยขึ้น

            จากสัญญาณส่อเค้าดังกล่าวเมื่อท่านไปรับการครวจระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ที่จะบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน

            1. ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าได้มากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดชิลิตร 2 ครั้ง(ปกติระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานเช้าในผู้ใหญ่มีค่า <115 มิลลิกรัม/เดชิลิตร ในเด็ก<130 มิลลิกรัม/เดชิลิตร หญิงมีครรภ์<105 มิลลิกรัม/เดชิลิตร)

            2. ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าเวลาใดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดชิลิตรเพียงครั้งเดียวร่วมกับมีสัญญาณส่อเค้าของการถ่ายปัสสาวะ บ่อย จำนวนมาก ดื่มน้ำมาก กินจุ น้ำหนักลด (ค่าปกติระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดชิลิตร)

            3. ในรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าเกิน 115 มิลลิกรัม/เดชิลิตร แต่ไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดชิลิตร ถือว่าอาจมีความผิดปกติ จำเป็นต้องทดสอบอย่างละเอียดโดยการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส คนที่เป็นเบาหวานมานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนเกือบทุกส่วนของร่างกาย มักเกิดหลังจากพบว่าเป็นเบาหวานแล้วไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีขึ้นไปแต่อาจเร็วกว่านี้ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่พึ่งอินซูลินที่สำคัญได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด เส้นประสาท ยิ่งเป็นโรคอยู่นานก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากโดยเฉพาะถ้าควบคุมโรค ได้ไม่ดี การที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงปัญหาเหล่านี้ก็จะยิ่งเกิดขึ้นเร็วและอาการ รุนแรง ปัญหาสำคัญและพบบ่อยของการเกิดโรคแทรกซ้อนได้แก่ การเสื่อมของหลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดเล็กๆ ทำให้มีผลกระทบต่อดวงตาที่เรียกกันว่า เบาหวานขึ้นตา การเสื่อมของหลอดเลือดที่ไตมีผลทำให้ไตเสื่อมสมรรถภาพจนถึงไตวายเรื้อรัง ที่เรียกกันว่า เบาหวานลงไต นอกจากนี้ยังมีผลต่อหลอดเลือดสมองทำให้ตีบตัน เกิดอาการอัมพาตหรืออัมพฤกษ์ หลอดเลือดของหัวใจติบแคบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เนื้อเน่าตายที่เท้า ปลายประสาทเสื่อมที่ปลายมือปลายเท้า ก็ล้วนเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดโลหิตเล็กๆ สู่อวัยวะนั้นๆ ทั้งสิ้น

            เมื่อเป็นเบาหวานแล้วการดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญและต้องเป็นการดูแลตนเอง อย่างต่อเนื่อง การที่คนเราจะดูแลตนเองได้และดูแลให้ได้ต่อเนื่องต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพอต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างรวมกันทั้งกำลังใจ แรงสนับสนุนทางสังคม ความรับผิดชอบ ความศรัทธาตลอดจนสามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้

            ความสำคัญของการพยาบาลเพื่อให้มีการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่บ้านตามปัญหาที่พบ

            1. ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับทราบการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคเบาหวาน เป็นครั้งแรก ผู้ป่วย หรือญาติ มักมีความเครียด วิตกกังวลสูง พยาบาลจำเป็นต้องเข้าใจให้กำลังใจ และสนับสนุนให้ผู้ป่วย หรือญาติมีความมั่นใจสามารถดูแลตนเองได้ คลายความวิติกังวล

            2. ผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องฉีดยาเบาหวาน พยาบาลจะอธิบายพร้อมสาธิตวิธีการใช้ยาฉีด การเก็บรักษาอุปกรณ์ การสังเกตการเสื่อมคุณภาพของยา จนถึงการทิ้งอุปกรณ์ เช่น เข็มฉีดยา

            3. ผู้ป่วยเป็นอัมพาต แนะนำเรื่องการฟื้นฟูของร่างกาย และการป้องกันภาวะแทรกช้อน เช่น แผลกดทับ ส่วนในกรณีที่ผู้ป่วยมีการให้อาหารทางสายยาง หรือมีท่อเจาะคอ พยาบาลให้คำแนะนำพร้อมการสาธิตการดูแลผู้ป่วย โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมอุปกรณ์ การเตรียมผู้ป่วย วิธีการดูแล วิธีการให้อาหารทางสายให้อาหารและวิธีการดูดเสมหะ

            4. ผู้ป่วยมีแผล พยาบาลให้คำแนะนำพร้อมสาธิตการทำแผลแก่ญาติหรือผู้ดูแล โดยเริ่มตั้งแต่การเตรียมผู้ป่วย การเตรียมอุปกรณ์การทำแผลที่ปราศจากเชื้อ วิธีการทำแผล โดยแผลแต่ละแห่งอาจทำแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและลักษณะของแผล รวมถึงบริเวณที่เป็นแผล

            5. ผู้ป่วยต้องใส่สายสวนปัสสาวะติดตัวกลับไปที่บ้าน พยาบาลให้คำแนะนำวิธีการดูแลในขณะที่มีสายสวนปัสสาวะ โดยเริ่มตั้งแต่การดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วไป การทำความสะอาดบริเวณที่ใส่สายสวนปัสสาวะ การดูแลสาย รวมถึงการกระตุ้นให้ดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการคาสายสวนปัสสาวะ การสังเกตอาการผิดปกติ โดย ดูสี กลิ่น และการไหลของปัสสาวะทางสาย          

            ฉะนั้นจะเห็นว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เกิดภาวะแทรกซ้อน ถือเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรัง มีข้อจำกัดในการดูแลตนเอง ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ดูแลที่สำคัญที่สุดก็คือ ญาติ หรือครอบครัวของผู้ป่วยนั่นเอง พยาบาลหรือบุคลากรในทีมสุขภาพเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุน ให้กำลังใจ เพื่อให้ผู้ป่วย/ครอบครัวมีความพร้อมที่จะกลับไปดูแลตนเองที่บ้าน และพยายามไปเยี่ยมที่บ้านเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ครอบครัวตระหนักถึงคุณค่าของการดูแลผู้ป่วย เกิดแรงจูงใจในการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแล

 

โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ 

           กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายแพทย์
            เครือโรงพยาบาลพญาไท

*ข้อความที่เป็นโฆษณาทั้งหมดใน eldercarethailand.com ท่านผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณของท่านในการตัดสินใจ กรุณารวบรวมข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจเลือก ทาง Elder Care Thailand ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของทางศูนย์ดูแลฯ ใด ๆ ทั้งสิน*

Copyright © 2011 ข้อมูล ดูแลผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุ Eldercarethailand. Designed by eldercarethailand